วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กระแสโลกาภิวัตน์กับขบวนการแรงงานไทย


กระแสโลกาภิวัตน์กับขบวนการแรงงานไทย

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

บทคัดย่อ
โลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ เป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของทุนนิยมโลกที่เริ่มต้นเมื่อทศวรรษที่ 1980 เมื่อแนวความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ได้เข้าครอบงำเหนือสังคมโลก ท่ามกลางความเพี่ยงพล้ำทางการเมืองของฝ่ายสังคมนิยมในสงครามเย็น โลกาภิวัตน์ชนิดนี้ได้นำสู่การแข่งขันอย่างเข้มข้นรุนแรงและได้ทำให้โลกเปลี่ยนไปอย่างฉับไวและมหาศาลในทุกๆด้าน ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลกระทบในด้านลบอย่างใหญ่หลวงต่อผู้ใช้แรงงานและสหภาพแรงงานทั่วทุกหนแห่งในโลก รูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากขึ้น สหภาพแรงงานทั่วโลกอ่อนแอลงท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ขั้นตอนนี้ ทำให้ขบวนการแรงงานพยายามหามาตรการและยุทธศาสตร์เพื่อต่อสู้กับกระแสโลกาภิวัตน์นี้ ในประเทศไทยคนงานและสหภาพแรงงานล้วนได้รับผลกระทบเชิงลบไม่ต่างจากที่อื่นๆ ของโลก ขบวนการแรงงานไทยซึ่งมีขนาดเล็กและอ่อนแออยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ต้องเผชิญกับปัญหาที่หนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีก นำสู่การดิ้นรนเพื่อวางยุทธศาสตร์ในการต่อกรกับสถานการณ์อันยากลำบากนี้ การปรากฏตัวของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเมื่อปี 2543 เป็นความหวังของขบวนการแรงงานไทยในการพลิกฟื้นขบวนการแรงงานไทยให้สามารถเข้าแบกรับภารกิจทางประวัติศาสตร์ในสถานการณ์โลกาภิวัตน์นี้

1.บทนำ
โลกาภิวัตน์ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่อย่างใด ทว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ได้ก่อตัวขึ้นมาพร้อมๆ กับการที่มนุษยชาติได้มีการแลกเปลี่ยนสินค้ากัน นับแต่ปลายศตวรรษที่ 19 การค้าโลกได้ปรากฏตัวพร้อมกับการจัดระเบียบโลกใหม่ให้กับยุคทุนนิยม แล้วอะไรคือความใหม่ของสิ่งที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ในวันนี้ หลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ที่การลงทุนข้ามพรมแดนได้ขยายตัวอย่างมหาศาลและอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่แพร่กระจายไปทุกแห่งหนของโลก มีการลดทอน กฎระเบียบต่างๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการค้าลง พร้อมกับเปิดประตูการค้าเสรีครั้งใหญ่ในทุกซอกทุกมุมของโลก ศูนย์กลางของกระบวนการนี้คือการเติบโตแบบก้าวกระโดดของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การเปิดเสรีของระบบการค้าระหว่างประเทศ การไหลบ่าอย่างไร้พรมแดนของเงินทุนจำนวนมหาศาลที่เป็นไปอย่างง่ายดาย การปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศและการคมนาคมขนส่ง กระบวนการนี้ได้ถูกเรียกรวมๆ ว่า โลกาภิวัตน์ และกลายเป็นคำศัพท์ที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายนับแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ซึ่งจะเรียกให้เป็นการเฉพาะเจาะจงลงไปก็ต้องเรียกกันว่าโลกาภิวัตน์ เสรีนิยมใหม่” (Neo-Liberal Globalization) เสรีนิยมของตลาดทุนครอบโลกมีความหมายถึงการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งที่ไหลทะลักไปยังทุกแห่งหนอย่างไร้พรมแดน บริษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ใหญ่สามารถขยับไปลงทุนที่ไหนก็ได้ที่ให้ผลกำไรเป็นที่พอใจแก่เขา และด้วยการเติบโตของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศนี่เองที่เป็นตัวกำหนดสำคัญของโลกยุคใหม่ที่เราเรียกว่ายุคโลกาภิวัตน์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับยุคก่อนหน้านั้นพร้อมๆ กันกับที่การค้าระหว่างประเทศขยายตัวขนานใหญ่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศก็มีอัตราการขยายตัวที่เร็วกว่าอย่างมาก
แม้ว่าเกือบทุกประเทศในโลกจะใช้ความพยายามอย่างมหาศาลที่จะดึงเงินลงทุนเหล่านั้นมายังประเทศของตน แต่ทุนกลับเลือกที่จะไหลไปรวมศูนย์อยู่ในไม่กี่ประเทศประเทศหลักๆ ที่เป็นประเทศปลายทางของการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วงทศวรรษที่ 1990 ได้สูบเงินลงทุน สามในสี่ของเงินลงทุนโดยตรงจากทั่วโลกไป ส่วนภูมิภาคอื่นๆ ที่เหลือของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัฟริกาได้ถูกกันออกไปจากกระบวนการนี้ ด้วยมีเงินลงทุนไหลเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวเพียงน้อยนิดระบบการผลิตแบบใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์นี้อยู่ในกำมือของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่สำคัญๆ ของโลกซึ่งมีอยู่ประมาณ 65,000 แห่งในปัจจุบัน ซึ่งมีบริษัทลูกในพื้นที่ต่าง ๆ ประมาณ 850,000 บริษัท ระบบการผลิตเช่นนี้ได้ขยายตัวไปในทุกภาคอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นระบบการผลิตที่เป็นแบบใช้เทคโนโลยีระดับสูงและที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น เช่น สิ่งทอ รองเท้า รวมทั้งภาคบริการด้วย เช่นบรรดากิจการธนาคาร หรือ Call center เป็นต้น นอกจากนี้โลกาภิวัตน์ยังเป็นยุคที่เครือข่ายการสื่อสารคมนาคมได้ขยายตัว และมีอัตราที่รวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นช่องทางที่ทำให้มนุษย์สามารถเข้าถึงสารพัดสิ่งในโลกใบนี้ได้อย่างง่ายดาย Microsoft Windows ได้เข้าไปอยู่ในทุกสำนักงานไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของโลกและนี่คือสัญญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสารสนเทศที่อินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ระบบโทรศัพท์ไร้สาย โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและ
เทคโนโลยีใหม่อื่นๆ ได้เข้ามามีบทบาท ทำให้โลกใบนี้เปลี่ยนไปอย่างกว้างขวางและด้วยอัตราความเร็วที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โลกที่เคยกว้างใหญ่ไพศาลกลับดูแคบและเล็กลงนอกจากโลกาภิวัตน์จะถูกพิจารณาในบริบทของเศรษฐกิจแล้วยังควรจะต้องถูกพิจารณาในบริบทอื่นๆ เช่น วัฒนธรรม ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ ดนตรี ภาพยนตร์วรรณกรรม ภาษา ยังรวมถึงอาหารการกิน การแต่งกาย อีกด้วย ในหลายประเทศโลกาภิวัตน์ในด้านเหล่านี้มีลักษณะคุกคามวัฒนธรรมภาษาท้องถิ่นอย่างยิ่ง การครอบงำของภาษาอังกฤษและผลผลิตทางวัฒนธรรมของอเมริกา J-pop และ K-pop ได้ ก้าวขึ้นไปมีอิทธิพลเหนือวัฒนธรรมท้องถิ่น และโลกาภิวัตน์ทางการเมืองที่โลก ทั้งโลกกำลังถูกครอบด้วยความคิดทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ที่เรียกว่า Libertarian Democracy ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่จำกัดวงอยู่ที่สิทธิและเสรีภาพทางการเมือง ทว่ามองข้ามประเด็นสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยที่เน้นเรื่องความเป็นธรรมและความเสมอภาคที่ใช้กันอยู่ในยุโรปที่เรียกว่า Social Democracy ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลและรวดเร็วนี้ ขบวนการแรงงานได้มีการเรียก ร้องให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์ที่เป็นธรรม เพื่อให้โอกาสกับทุกคนและช่วยสร้างสังคมยุติธรรม องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO ได้ออกมาตรการหลายต่อหลายมาตรการ เพื่อที่จะกำกับให้โลกาภิวัตน์เป็นประโยชน์และสร้างความเสมอภาคให้กับทุกฝ่ายทั้งประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาและเพื่อคนทุกกลุ่มได้ประโยชน์ มิใช่เพื่อการแสวงหากำไรของคนหยิบมือเดียวของโลกที่เป็นนายทุนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีการรณรงค์เรื่องงานที่มีคุณค่า(Decent work) อย่างจริงจัง ในปี 2008 ILO ได้ออกคำประกาศว่าด้วย ความยุติธรรมทางสังคมและการสร้างโลกาภิวัตน์ที่เป็นธรรม ขึ้นมาเพื่อต่อกรกับวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินที่เป็นผลด้านลบจากโลกาภิวัตน์

2. โลกาภิวัตน์ เสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberal Globalization) อีกขั้นตอนของประวัติศาสตร์ทุนนิยมโลก
โลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ เป็นโลกาภิวัตน์ที่มีรากฐานมาจากอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ที่เชื่อในตลาดเสรี คือเชื่อในกลไกตลาดมากกว่าบทบาทของรัฐ ซึ่งเป็นกรอบความคิดทางเศรษฐกิจที่ครอบงำโลกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหลักการพื้นฐานคือ นโยบายทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมทุนนิยมแบบตลาดเสรี (Free Market Economy) เสรีนิยมใหม่มีความแตกต่างจากเสรีนิยมเก่าที่มีรากฐานมาจากแนวคิดที่ปรากฏในหนังสือเรื่อง The Wealth of Nation ของ Adam Smith นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่เชื่อว่านโยบายเศรษฐกิจที่ดีที่สุดคือการยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่เป็นการควบคุมทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาล แล้วปล่อยให้เกิดตลาดเสรีนั่นคือให้นายทุนมีเสรีภาพเต็มที่ในการสร้างผลกำไรโดยที่รัฐไม่เข้าแทรกแซง เสรีนิยมจึงมีความหมายเท่ากับอิสระจากการควบคุม” (Free from Control) “ตลาดเสรีโดยหลักการก็คือการแข่งขันเสรีของธุรกิจโดยปราศจากการควบคุมจากรัฐบาล และเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลดีและความมั่งคั่งกับคนส่วนใหญ่ของสังคมในที่สุด แนวความคิดตลาดเสรีนี้เป็นที่แพร่หลายและมีอิทธิพลครอบงำอย่างกว้างขวางทั่วโลกในช่วงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 แต่ปรากฏว่าที่อ้างว่าตลาดเสรีและการแข่งขันเสรีจะนำมาซึ่งความมั่งคั่งของประชาชนส่วนใหญ่ในที่สุดนั้น ไม่เคยปรากฏเป็นจริง ตรงกันข้ามกลับทำให้คน
ส่วนใหญ่มีสภาพยากจนข้นแค้นยิ่งขึ้นยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงทศวรรษที่ 1930 เมื่อโลกได้เข้าสู่วิกฤติใหญ่ที่เรียก“Great Depression” ซึ่งเริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาแล้วลุกลามไปทุกภูมิภาคของโลกนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ John Maynard Keynes ได้สรุปว่า สิ่งนี้คือความล้มเหลวของระบบตลาดเสรี และเสนอว่านโยบายทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดของระบบทุนนิยมคือ นโยบายที่ให้รัฐบาลเข้าแทรกแซง กำหนดมาตรการทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการจ้างงาน เพราะการมีงานทำ คือการทำให้คนมีเงินใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้สินค้าและบริการขายได้ ซึ่งแนวความคิดเช่นนี้ ได้ทำให้รัฐเข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจระดับหนึ่งอย่างไรก็ตามเมื่อก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 1970 ทุนนิยมโลกได้เข้าสู่วิกฤติอีกครั้งกำไรของบริษัทต่างพากันหดตัวลง ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่สภาวะไร้เสถียรภาพ นำสู่การตั้งข้อสงสัยต่อทฤษฎีของเคนส์ขนานใหญ่ นักธุรกิจจำนวนมากโยนความผิดไปให้แนวความคิดแบบเคนส์ ที่ปล่อยให้รัฐเข้ามาควบคุมกลไกตลาดมากเกินไปและพากันกลับไปหาข้อสรุปที่เป็นเสรีนิยมสุดโต่งอีกครั้งนับเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่” โลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่นี้ ถือกำเนิดโดยความเชื่อของฝ่ายทุนที่ปรารถนาจะกอบกู้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกให้สามารถทำให้เศรษฐกิจกลับมาแสวงหากำไรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกครั้ง

3. ปรัชญาเบื้องหลังโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่
1. การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน
หมายถึง การทำให้การค้าและการลงทุนเป็นเรื่องไร้การควบคุม โลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ได้ยกเลิกอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงที่ขวางกั้นการค้าเสรี เช่น กำแพงภาษีทั้งหลายจะถูกยกเลิก ระบบโควต้าแบบเดิมจะถูกยกเลิก มาตรการที่กำหนดเรื่องคุณภาพของสินค้าต้องถูกยกเลิก เหล่านี้ล้วนเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนโดยต่างชาติ รวมถึงการทำให้การเงินและการลงทุนไหลเวียนอย่างไร้ข้อจำกัด การทำให้การลงทุนมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ ทำให้ทุนหรือบริษัทข้ามชาติทั้งหลายวิ่งเข้าหาพื้นที่ที่จะทำให้เขาทำกำไรได้สูงสุด ซึ่งเรื่องนี้จะพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับการเปิดเสรีทางการเงินและการธนาคาร
2. การยกเลิกกฎเกณฑ์ต่างๆ (Deregulation)
คือการทำให้รัฐบาลต่างลดมาตรการทางเศรษฐกิจลง เพื่อจัดให้มีบริการหรือสวัสดิการสังคมต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น ยกเลิกมาตรการอุดหนุนต่างๆ ยกเลิกการควบคุมราคาสินค้า ยกเลิกการเก็บภาษีทางตรง อันได้แก่ ภาษีรายได้ และ กำไรลงเพื่อเป็นแรงจูงใจต่อนักลงทุนทั้งหลาย รวมทั้งยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่จะมีผลการเพิ่มภาระให้กับนักลงทุนเช่น กฎหมายคุ้มครองค่าจ้าง การคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของแรงงาน รวมทั้งภาระด้านการดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นต้น
3. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
เป็นมาตรการที่แพร่หลายไปยังทุกภูมิภาคของโลกในยุคโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ที่มีการถ่ายโอนกิจการที่รัฐเป็นเจ้าของและดำเนินการหลายแห่งไปให้กับเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อบริการสาธารณะ ซึ่งได้ถูกอธิบายว่าเป็นสิ่งผิดและเป็นความล้มเหลว เพราะเป็นภาระแก่รัฐ และไม่สามารถสร้างกำไรได้ เมื่อเอากำไรเป็นตัวตั้ง จึงเห็นได้ว่าภาคเอกชนมีความสามารถและประสิทธิภาพมากกว่า จึงดำเนินการควรถ่ายโอนไปให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งนอกจากเปลี่ยนสภาพการเป็นเจ้าของแล้วยังรวมถึงการโอนภารกิจบางอย่างออกไปให้เอกชนทำในรูปของOutsourcing และ Subcontracting
4. การปรับโครงสร้างการผลิตและบริการ
ในยุคโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่นี้เป็นยุคที่มีการแข่งขันทางการค้าอย่างรุนแรงโรงงานที่เป็นการผลิตบนสายพานการผลิตแบบเดิม ที่คนงานถูกจ้างให้มาทำงานร่วมกัน บนสายพานการผลิตเดียวกัน ซึ่งริเริ่มโดยบริษัทผลิตรถยนต์ฟอร์ด อันเป็นระบบการผลิตที่ได้รับการพัฒนาเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 และเป็นแบบแผนการผลิตที่กระจายไปทุกมุมโลกตลอดศตวรรษที่ 20 เริ่มกลายเป็นสิ่งพ้นสมัยนับแต่ทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 เมื่อโตโยต้าได้พัฒนารูปแบบการผลิตแบบใหม่ที่ทำให้สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน การผลิตไม่ได้รวมศูนย์การผลิตอยู่บนสายพานการผลิตเดียวกันแบบเดิมอีกต่อไป แต่มีการกระจายการผลิตออกไปที่เรียกว่า Outsourcing และมีการจ้างงานแบบเหมาช่วงหรือSubcontracting ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่ชัดเจนแบบเดิมสลายไป คนงานจำนวนมากกลายเป็นลูกจ้างที่มองไม่เห็นตัวตนที่แท้จริงของนายจ้างการจ้างงานแบบใหม่ได้ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ประเทศทั่วโลก ต่างพากันปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับการผลิตแบบใหม่นี้ เพื่อแย่งชิงการลงทุนของบรรดาบริษัทข้ามชาติทั้งหลาย มายังประเทศตน จนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการแข่งขันกันลงสู่ก้นเหวหรือ Race to the Bottom ปรากฏการณ์นี้คือการทำให้ประเทศตนเป็นสวรรค์ของการขูดรีดแรงงาน การผลิตแบบใช้แรงงานเข้มข้นที่ทำให้การจ้างงานจำนวนมากอาจถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เมื่อนายทุนเห็นว่าจะสามารถสร้างกำไรให้มากกว่า นั่นคือตำแหน่งงานจำนวนมากหายไป และถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรสมัยใหม่ ซึ่งสิ่งที่นายทุน นักธุรกิจ ปรารถนาที่สุดประการหนึ่ง คือ การกำจัดสหภาพแรงงานออกไปจากพื้นที่การลงทุน จึงพบว่าในประเทศกำลังพัฒนาหลายต่อหลายประเทศพากันเอาใจนายทุนด้วยการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาที่เรียกกันว่า Export Processing Zone หรือ EPZ หรือบางแห่งเรียก Free Trade Zone ให้เป็นเขตปลอดสหภาพแรงงาน

4. องค์ประกอบสำคัญของโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ได้แก่
1. ตลาดใหม่
ด้วยการลดทอนมาตรการต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนลง ทำให้เงินทุนและสินค้าสามารถไหลเวียนได้อย่างคล่องตัวง่ายดาย ลงทุนน้อยแต่กำไรมากทุกแห่งหนบนโลกใบนี้ คือตลาดโลกไร้สาย ทำให้การโอนเงินลงทุนจำนวนมหาศาลนับหมื่นแสนล้านสามารถโอนเปลี่ยนมือได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว แค่กดปุ่มเพียงครั้งเดียว และทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
2. เครื่องมือใหม
เพื่อเพิ่มกำไรในยุคโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่นี้ ธุรกิจได้ปรับปรุงประสิทธิภาพของตน บริษัทหลายแห่ง ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ทั้งเทคโนโลยีโทรคมนาคมและการขนส่ง การเคลื่อนย้ายธุรกิจการลงทุน การขนส่งสินค้า และการโอนกำไรในยุคใหม่นี้จึงสามารถทำได้อย่างง่ายดาย
3. ตัวแสดงใหม่ๆ บนเวทีโลก
บริษัทต่างๆถูกควบคุมโดยบรรดาบริษัทข้ามชาติมากขึ้นอย่างชัดเจน อำนาจทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ ทำให้รัฐมีความสำคัญน้อยลง ขณะที่กลุ่มการค้าในระดับภูมิภาคและองค์กรระดับโลกอย่าง WTO มีบทบาทสำคัญมากขึ้นทุกขณะ
4. กติกาใหม่
ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่เดิมทำกันในลักษณะทวิภาคี มีความสำคัญน้อยลง ขณะที่ข้อตกลงการค้าแบบพหุภาคีมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่ากติกาการค้ามีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น

5. ปัจจัยที่ทำให้โลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่เติบใหญ่ขึ้น
ดังกล่าวไปแล้วว่าเงื่อนไขพื้นฐานอันนำไปสู่การเกิดโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่คือ การเกิดวิกฤติของระบบทุนนิยมโลกในทศวรรษที่ 1970 อันเป็นวิกฤติของการผลิตล้นเกิน (over production) อันหมายถึง มีสินค้ามากกว่าผู้ซื้อและตลาด และวิกฤติอันเกิดจากการสะสมทุนล้นเกิน (over accumulation of capital) อันหมายถึง มีกำไรมหาศาลแต่ไม่รู้จะไปลงทุนที่ไหนต่อไปนอกจากปัจจัยสองประการนี้แล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ อันได้แก่
1. การเกิดการปฏิวัติทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีคมนาคมและการขนส่ง 
โลกได้เข้าสู่ยุคที่ข้อมูลข่าวสารได้เข้ามามีอำนาจสูงสุดของอำนาจทางเศรษฐกิจบริษัทที่เข้าถึงองค์ความรู้และข้อมูลข่าวสารดีที่สุดก็จะสร้างกำไรได้มากที่สุดเช่นกันในการสำรวจหาตลาดและแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำและสร้างกำไรได้สูงนั้นสามารถคอมพิวเตอร์ผ่านอินเตอร์เน็ตเพียงเครื่องเดียว ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อค้นหาว่าประเทศไหนค่าแรงถูกและรัฐบาลมีนโยบายเอาใจ นายทุน นักธุรกิจ อันเป็นเหตุให้บริษัทสามารถตัดสินใจได้เร็วและถูกต้องแม่นยำ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเคลื่อนย้ายถ่ายโอนเงิน อย่างง่ายดายโดยผ่านระบบธนาคารออนไลน์ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ
2. โปรแกรมปรับโครงสร้าง (Structural Adjustment Program)
            จากการบงการโดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ ที่ทำหน้าที่ปล่อยเงินกู้ระหว่างประเทศ เช่น IMF, World Bank และ ADB ซึ่งมีบทบาทชักใยอยู่เบื้องหลังการให้กู้ยืมเงินแก่ประเทศต่างๆ ด้วยการตั้งเงื่อนไขให้ประเทศผู้กู้ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด สถาบันเหล่านี้ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผู้กู้ให้เดินไปสู่แนวทาง เสรีนิยมใหม่อย่างสุดตัว ข้อเสนอแนะ เรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเปิดเสรีทางการค้า การลดทอนระเบียบกฎเกณฑ์ การขึ้นดอกเบี้ย การลดบทบาทของรัฐในทางเศรษฐกิจและสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่มีผลต่อการตัดสินใจจะให้หรือไม่ให้กู้เงิน ประเทศไทยได้ผ่านประสบการณ์อันปวดร้าวจากเรื่องนี้มาแล้ว เมื่อรับเงินกู้และเข้าโปรแกรมของ IMF และ ADB ช่วงวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้งในปีพ.. 2540
3. การเกิดขึ้นของ GATT และ WTO
            ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า หรือที่เรียกว่า GATT ที่ได้ก่อตัวเมื่อปี 1947 เพื่อกำหนดกติกาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการเกิดสงครามการค้า ดังที่เคยเป็นเหตุของสงครามโลกสองครั้ง ในปี 1994 ขณะประชุม GATT ที่เรียกว่ารอบอุรุกรัยได้ขยายกรอบการพูดคุยไปครอบคลุมเรื่องเกษตรการบริการ และทรัพย์สินทางปัญญา จนนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรการค้าโลกหรือ WTO ในปี 1995 เพื่อนำเอากฎเกณฑ์ของ GATT ไปสู่การบังคับใช้ ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้ก็ คือการส่งเสริมให้เกิดโลกาภิวัตน์ เสรีนิยมใหม่ อันได้แก่
- การยกเลิกค่าธรรมเนียมนำเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งทอ และ
ผลผลิตการเกษตร
- การยกเลิกข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายเงินและ
- การให้หลักประกันว่า สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์จะได้รับ
การปกป้องคุ้มครอง
4. การเกิดขึ้นของกลุ่มการค้าระดับภูมิภาค
            การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจการค้าระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของโลกได้ลากชาติต่างๆ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ อย่างทั่วหน้า NAFTA, AFTA, APEC, ASEMและอีกมากมาย การรวมตัวเหล่านี้มักอยู่ในกรอบคิดเรื่องเสรีนิยมใหม่ที่จัดกรอบโดย WTO
5. แนวคิดเสรีนิยมใหม่ได้ก้าวมาเป็นอุดมการณ์หลักของโลกหลังยุคสงครามเย็น
นับแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาโลกภายใต้การนำของประธานาธิบดีเรแกนแห่งสหรัฐอเมริกาและนายกรัฐมนตรีแธตเชอร์ แห่งอังกฤษได้มีส่วนอย่างสำคัญ ที่ชี้นำให้โลกทั้งโลกเห็นคล้อยตามว่าเสรีนิยมใหม่ คือทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ นับเป็นอุดมการณ์ซึ่งรัฐบาลทุกหนแห่งทั่วโลกต้องปฏิบัติตาม อุดมการณ์สังคมนิยมที่เคยเป็นคู่ปรับกับทุนนิยมนั้นได้ล่มสลายไปพร้อมๆ กับกำแพงเบอร์ลินและระบอบโซเวียต และเปิดโอกาสให้เสรีนิยมใหม่ลงรากปักฐานและงอกงามเป็นอุดมการณ์โลกในที่สุด

6. ใครคือตัวแสดงสำคัญในโลกาภิวัตน์ เสรีนิยมใหม่
1. บริษัทข้ามชาติ
บริษัทข้ามชาติคือแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้คือ ผู้อยู่เบื้องหลังและเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุด ด้วยความสามารถที่จะสำรวจตรวจตราว่า ณ จุดใดบนโลกเหมาะสมในการลงทุนที่จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด กำไรสูงสุด บริษัทเหล่านี้จะแผ่กิ่งก้านสาขาของตนไปยังมุมต่างๆ
ของโลก ทุกวันนี้เขาคือบริษัทที่ลงทุนในกิจการอีเลคทรอนิคส์ เครื่องใช้ไฟฟ้ารถยนต์ ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และ ยา บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ ควบคุมการค้าถึง 2 ใน 3 ของการค้าและบริการของโลก นั่นหมายถึง มีเพียง 1 ใน 3 ของการค้าโลกที่มิได้ถูกควบคุม ตั้งราคา และผูกขาดโดยบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ ด้วยสภาวะโลกาภิวัตน์
เสรีนิยมใหม่ ทำให้บริษัทข้ามชาติอยู่เหนือนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลแห่งชาติต่างๆ
2. สถาบันการเงินระหว่างประเทศ
ดังกล่าวไปแล้วว่า สถาบันการเงินระหว่างประเทศ คือสถาบันเงินกู้ที่อำนวยความสะดวกในการให้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อขับเคลื่อนการค้าโลก IMF และ World Bank โดยมีประเทศต่าง ๆ กว่า 170 ประเทศเป็นสมาชิก โดยสมาชิกต้องจ่ายค่าบำรุง ประเทศที่จ่ายมากกว่าก็มีอำนาจในการออกเสียงมากกว่า ช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 สมาชิกที่ใหญ่สุด 6 ประเทศของ IMF อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษเยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และซาอุดิอาระเบีย จ่ายค่าบำรุงสมาชิกรวมกันสูงถึง 43% ของค่าบำรุงของสมาชิกทั่วโลก บทบาทหลักของ IMF ก็คือการอนุมัติเงินกู้ให้กับประเทศที่เป็นหนี้สิน ดังนั้น การให้เงินกู้ของ IMF แท้ที่จริงก็คือการทำให้ลูกหนี้สามารถนำเงินไปใช้หนี้ใน ระบบทุนนิยมนั่นเอง ขณะที่การรับเงินกู้ก็ต้องรับแนวนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปใช้ เพื่อส่งเสริมกฎเหล็กของระบบทุนนิยมตลาดเสรี ขณะที่ธนาคารโลก ให้เงินกู้ระยะยาว ก็คือการทำให้โครงการต่างๆ ของประเทศผู้กู้สามารถดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายเสรีนิยมใหม่ ในเอเชียก็มี ADB ทำภารกิจเดียวกันกับธนาคารโลก
3. องค์กรการค้าโลก
WTO ทำหน้าที่ดูแลให้หลักประกันว่าข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นไปตามที่วางไว้ มีอำนาจในการ Sanction ประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง WTO โดยปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 153 ประเทศ ที่เข้ามาตัดสินใจร่วมกัน บนหลักการที่เห็นพ้องต้องกัน ซึ่งโดยหลักการอาจจะดูดี แต่ในทางปฏิบัติแล้วประเทศที่พัฒนาและร่ำรวยกว่ามีบทบาทครอบงำองค์กรเหนือประเทศด้อยพัฒนาและยากจนซึ่งไม่มีปากมีเสียงมากนักในกระบวนการตัดสินใจ แม้จะไม่เห็นด้วยในหลายกรณี
4. กลุ่มภูมิภาค (Regional Blocs)
กลุ่มภูมิภาคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น EU, NAFTA, APEC, ASEANและ ASEM เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางที่ประเทศรวยกว่าในภูมิภาคมีอำนาจเหนือกลุ่มในการตัดสินใจที่จะกำหนดว่าภูมิภาคต่างๆ จะมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจการค้าโลกอย่างไร
5. รัฐบาล
แม้โลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ จะลดบทบาทและมาตรการควบคุมของรัฐบาลต่อระบบทุนนิยมตลาดเสรีลง แต่ก็ยังคงต้องการให้รัฐบาลมีบทบาทในฐานะตัวแทนประเทศผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเข้าไปร่วมกำหนดและตัดสินใจในข้อตกลงระดับโลกและระดับภูมิภาค และรับแนวคิดเสรีนิยมใหม่เข้ามาสู่การปฏิบัติในระดับรัฐชาติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการปรับโครงสร้าง การผลิตในระดับโลกให้เป็นจริงในทุกพื้นที่ บทบาทสำคัญของรัฐบาล เช่น การกำหนดนโยบายมาตรการกฎหมายในประเทศเพื่อส่งเสริมเสรีนิยมใหม่ เช่น การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษออกกฎหมายมาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุน และมาตรการจำกัดสิทธิของฝ่ายแรงงาน เป็นต้น

7. ผู้เก็บเกี่ยวประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ เสรีนิยมใหม่
1. บริษัทข้ามชาติ
มีการสำรวจพบว่าสินทรัพย์ของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ 300 บริษัทแรกมีมูลค่าเท่ากับ1ใน 4 ของทั้งโลก รายได้ของ 200 บริษัทข้ามชาติระดับแนวหน้าของโลกมีมูลค่ามากกว่าเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมดในโลกรวมกัน ยกเว้น 8 ชาติมหาอำนาจ นี่คือคำตอบที่ว่า บริษัทข้ามชาติ คือผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดจากโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่นี้ ปัจจุบันมีบริษัทข้ามชาติประมาณ 63,000 แห่งที่มีกิ่งก้านสาขากว่า 690,000 แห่งทั่วโลก
2. ประเทศพัฒนาแล้ว
บริษัทข้ามชาติที่ขยายการลงทุนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกได้นำกำไรจากผลประกอบการกลับคืนเข้าสู่ประเทศของตน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือประเทศที่พัฒนาแล้วในบรรดาบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ 200 แห่งของโลกนั้นมีมากถึง 172 แห่งที่มีบริษัทแม่ตั้งอยู่ในประเทศยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า กลุ่มประเทศเหล่านี้คือผู้มีอิทธิพลสูงสุดต่อสถาบันระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางของโลกาภิวัตน์

8. ผู้ใช้แรงงาน: เหยื่อของโลกาภิวัตน์
โดยภาพรวมแล้ว โลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ได้สร้างโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ผู้แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะอยู่รอดในสมรภูมิการแข่งขันเช่นนี้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนแบบแผนการจ้างงานใหม่ ซึ่งแน่นอนที่สุดได้ส่งผลต่อผู้ใช้แรงงานจำนวนมากมายมหาศาลทั่วโลก การว่างงานได้ขยายตัวไปยังทุกหนแห่งของโลก คำว่าการจ้างงานเต็มได้ถูกลบออกจากเป้าหมายของทุกรัฐบาลในโลกนี้ โลกาภิวัตน์ เสรีนิยมใหม่ได้ทำให้อัตราการจ้างงานหดหายไป เพราะพบว่าบริษัทข้ามชาติที่ดำเนินกิจกรรมอย่างกว้างขวางทั่วโลก ได้ทำให้เกิดการจ้างงานเพียง 18.8 ล้านตำแหน่งเท่านั้น นับเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรโลก 6,000 ล้านคน บริษัทข้ามชาติเหล่านี้พยายามลดตำแหน่ง เลิกจ้างแรงงานอยู่ตลอดเวลา และหันไปหาการจ้างงานแบบชั่วคราว ด้วยความต้องการจ้างงานแบบยืดหยุ่นที่ไร้ซึ่งความมั่นคงในการทำงาน ไร้อำนาจต่อรอง ไร้สวัสดิการ การพัฒนาในยุคโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่นี้ ยิ่งพัฒนา งานยิ่งหดหาย แรงงานถูกผลักออกไปอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบมากขึ้นทุกขณะ พวกเขาเหล่านี้กลายเป็นแรงงานที่ไม่มีตัวตนเพราะกลายเป็นแรงงานที่อยู่นอกการสำรวจ ปราศจากกฎหมายคุ้มครอง ในเอเชียมีสัดส่วนสูงถึง 32.8% ในลาตินอเมริกา 80% และในอัฟริกาสูงถึง 90% ในประเทศไทยพบว่ามีแรงงานถูกผลักออกไปอยู่ภาคเศรษฐกิจนอกระบบถึงกว่า 23 ล้านคน จากแรงงาน 37 ล้านคน เมื่อค่าแรงถูก ย่อมหมายถึง ความได้เปรียบในเกมการแข่งขันการค้ามหาโหดของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ใหม่นี้ เด็กก็ถูกลากออกจากโรงเรียนเข้าสู่ตลาดแรงงานมืดที่โหดเหี้ยมทารุณ ด้วยค่าจ้างที่แสนจะถูกปราศจากสวัสดิการใดๆเนื่องจากตำแหน่งงานที่ลดน้อยลง คนงานจึงมีทางเลือกน้อยลง อำนาจการต่อรองก็น้อยตามไปด้วย ดังนั้นคนงานไม่สามารถเลือกงานได้มากนัก ด้วยชั่วโมงการทำงานที่ยาวขึ้นในแต่ละวันด้วยระบบ OT ณ เวลานี้งานแบบไหนก็ต้องยอมรับเพื่อให้มีรายได้ แรงงานข้ามชาติกลายเป็นปรากฏการณ์สากลที่เกิดขึ้นในขอบเขตทั่วโลก แรงงานจำนวนมหาศาลจากทุกซอกมุมของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศด้อยพัฒนาต้องพร้อมที่จะเคลื่อนย้ายตนเอง ออกจากถิ่นฐานบ้านเกิด พลัดพรากจากครอบครัวเพื่อแสวงหางาน เพื่อความอยู่รอดของตนเองและครอบครัว นำไปสู่ปัญหาครอบครัวแตกแยก ปัญหาที่ตามมาอีกประการหนึ่ง ก็คือปัญหาการช่วงชิงแย่งงานและความขัดแย้งระหว่างแรงงานเชื้อชาติต่างๆคนงานจนลง และช่องว่างระหว่างคนรวยกบั คนจนไดข้ ยายกว้างขนึ้ ในยคุ โลกาภวิ ตั น์เสรีนิยมใหม่นี้ ค่าจ้างที่แสนถูกของคนงานคือกำไรมหาศาลของบริษัทข้ามชาติ ในหลายประเทศ รัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อกดค่าแรงงานของในประเทศตนให้ต่ำ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับนักลงทุนข้ามชาติ เช่นกรณีประเทศไทยที่ยอมทำตามคำแนะนำของ ADB ที่ให้หามาตรการแช่แข็งค่าจ้าง หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 จนต้องเข้าโปรแกรมเงินกู้ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ได้ถูกเปลี่ยนจากการกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่เป็นองค์กรไตรภาคี ไปสู่การกำหนดค่าจ้างโดยคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด ทำให้ค่าจ้างในหลายจังหวัดที่คนงานไม่มีการรวมตัวกลายเป็นสหภาพแรงงานที่ถูกแช่แข็ง

9. ผลกระทบของโลกาภิวัตน์และการปรับตัวของขบวนการแรงงาน
ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ แรงงานถูกบีบให้ต้องแข่งขันกันเอง ผู้ใช้แรงงานในประเทศพัฒนาต้องสูญเสียตำแหน่งงานของตนให้กับแรงงานในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งยินดีทำงานในราคาที่ถูกกว่า ภายใต้สภาพการจ้างที่เลวร้ายกว่า ทำให้บริษัทข้ามชาติพากันย้ายฐานการผลิตมายังประเทศกำลังพัฒนา และงานที่ย้ายมานั้นแรงงานประเภทมีทักษะฝีมือเท่านั้นที่จะได้รับการจ้างงานประจำซึ่งมีจำนวนน้อยลงขณะที่การจ้างงานส่วนใหญ่ที่เป็นคนงานไร้ฝีมือและกึ่งมีฝีมือจะถูกจ้างด้วยระบบการจ้างงานชั่วคราว หรือไม่ก็ผลักออกไปอยู่นอกระบบ เป็นแรงงานเหมาช่วง หรือเหมาค่าแรงไป ลักษณะการจ้างงานแบบนี้ ทำให้ขบวนการสหภาพแรงงานสูญเสียสมาชิกเป็นจำนวนมาก ทั้งในประเทศพัฒนาและในประเทศกำลังพัฒนา แรงงานที่ถูกผลักออกไปอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบมีข้อจำกัดในการรวมตัว อีกทั้งอำนาจที่ล้นเหลือของบรรษัทข้ามชาติได้ทำให้อำนาจการต่อรองของคนงานต่ำลง การจ้างงานที่ไม่แน่นอน ความไม่มั่นคงในการทำงาน และนโยบายต่อต้านสหภาพแรงงานของเหล่าบรรษัทข้ามชาติทำให้คนงานเกรงกลัวจะถูกกลั่นแกล้ง หากเข้าร่วมกิจกรรมและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ในหลายประเทศมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบ้างเขตเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกบ้าง พื้นที่เหล่านี้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ หรือสร้างมาตรการหลายอย่างเพื่อให้กลายเป็นเขตปลอดสหภาพแรงงาน เหล่านี้ทำให้อัตราส่วนของคนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือที่เรียกว่า “Union Density” ลดต่ำลงในทุกภูมิภาคของโลก มีผลทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอลงในขอบเขตทั่วโลก ขบวนการแรงงานทั้งในระดับชาติและระดับสากลพยายามกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อตอบโต้สถานการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้น ยุทธศาสตร์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้อย่างได้ผลและกว้างขวางคือควบรวมสหภาพแรงงานต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้เกิดความเป็นเอกภาพและเพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง ของขบวนการแรงงานมาตรการนี้เกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ตัวอย่างเช่นในเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบสหภาพแรงงานแบบอุตสาหกรรม เคยมีสหภาพแรงงานทั้งประเทศ 16 แห่ง ปัจจุบันได้ควบรวมกันจนเหลือแค่ 8 แห่ง ในระดับสากล สหพันธ์แรงงานระหว่างประเทศหรือGlobal Union Federation ก็ได้จับกลุ่มควบรวมกันหลายต่อหลายแห่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อที่จะสร้างดุลอำนาจของฝ่ายแรงงานเพื่อถ่วงดุลและตรวจสอบบรรษัทข้ามชาติที่นับวันมีอำนาจมากขึ้นขบวนการแรงงานได้พยายามสร้างกลไกและเครื่องมือใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อรับมือกับอำนาจล้นเหลือของบรรษัทข้ามชาติ โดยองค์กรแรงงานในที่ต่างๆ ทั่วโลกพยายามรวมตัวกันและสร้างความสมานฉันท์สากล (International Solidarity) ช่วยกันสร้างกลไกและกำหนดกติกาที่เป็นสากลขึ้นมาบีบบังคับใช้กับบรรดาบรรษัทข้ามชาติเหล่านั้นให้ต้องเคารพสิทธิของแรงงาน ไม่ว่าจะไปลงทุนในแห่งหนใดของโลกเครื่องมือต่างๆ เหล่านั้นได้แก่ จรรยาบรรณการค้า (Code of Conduct) ที่กำหนดมาตรฐานสากลของเหล่าบรรษัทข้ามชาติที่ต้องปฏิบัติตามและมีกลไกตรวจสอบให้เป็นไปตามจรรยาบรรณกรอบข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศ” (International Framework Agreement) ที่สหพันธ์แรงงานสากลพยายามทำข้อตกลงร่วมกันกับบรรษัทข้ามชาติเพื่อกำหนดมาตรฐานแรงงานและสภาพการจ้างที่บรรษัทจะต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อคนงานทุกแห่งหนที่เขาเข้าไปลงทุน ขบวนการแรงงานสากลพยายามที่จะเข้าไปมีอิทธิพลเหนือองค์กรการค้าโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ องค์กรข้ามชาติต่างๆ รวมทั้งข้อตกลงเสรีทางการค้าทั้งที่เป็นแบบพหุภาคีและทวิภาคีเพื่อให้ผนวกเอาประเด็นสิทธิสังคมและแรงงานเข้าไปเป็นกรอบเงื่อนไขด้วย ในยุโรปมีการผลักดันให้มีกฎบัตรทางสังคมแห่งยุโรป (Europian Socail Charter) ที่กำหนดกติกาทางสังคมระดับภูมิภาค ในเอเชีย ขบวนการแรงงานได้เรียกร้องให้กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) มีการผนวกประเด็นแรงงานเข้าไปด้วย นอกจากการสร้างเครือข่ายการรณรงค์สากลเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของคนงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยฝ่ายทุนอย่างจริงจังก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ขบวนการแรงงานได้ใช้เพื่อตอบโต้กับโลกาภิวัตน์เชิงลบที่เกิดขึ้นกับพวกเขาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลกในปี 2009 อันส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในขอบเขตทั่วโลกนั้น ขบวนการแรงงานสากลได้พยายามรณรงค์เพื่อให้มีการทบทวนปรัชญาเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นแบบเสรีนิยมใหม่ที่อยู่เบื้องหลังกระแสโลกาภิวัตน์อย่างจริงจัง พวกเขาเห็นว่าควรใช้วิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสสำคัญในการปรับเปลี่ยนกรอบคิดของโลกให้เปลี่ยนจากเสรีนิยมใหม่ไปสู่กรอบความคิดที่นำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

10. ภูมิหลังแรงงานรับจ้างในประเทศไทย
การถือกำเนิดและขยายตัวของแรงงานรับจ้างในไทยเป็นผลโดยตรงที่เกี่ยวเนี่องจากการที่ประเทศสยามถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์หลังการทำสนธิสัญญาการค้าเสรีกับนานาประเทศในช่วงกลางทศวรรษที่1850 ขณะนั้นคนไทยส่วนใหญ่ยังคงถูกตรึงไว้กับระบบการเกณฑ์แรงงานโดยรัฐ นั่นคือไม่มีอิสระ สิทธิและเสรีภาพที่จะไปเป็นแรงงานรับจ้างให้กับโรงงานหรือสถานประกอบการต่างๆ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นได้ทำให้ต้องมีการนำเข้าแรงงานข้ามชาติจากประเทศจีนจำนวนมากเพื่อสนองความต้องการแรงงานรับจ้างในไทย แรงงานจีนจึงถือเป็นแรงงานรับจ้างรุ่นแรกในประเทศไทย และแม้ต่อมาเมื่อมีการยกเลิกระบบการเกณฑ์แรงงานในประเทศไทยลง แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังคงพอใจที่จะใช้ชีวิตอยู่บนไร่นาเพราะข้าวได้กลายเป็นสินค้าออกสำคัญของประเทศ ซึ่งได้พันธนาการแรงงานไทยไว้กับที่นาอีกยาวนาน ดังนั้นแรงงานข้ามชาติจากประเทศจีนจึงยังคงเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในตลาดแรงงานไทย จวบจนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองไปแล้วเมื่อรัฐบาลไทยหันมาใช้นโยบายกีดกันแรงงานข้ามชาติจากจีนอย่างจริงจังโดยมีการออกกฎหมายจำกัดโควต้าการเข้าประเทศของชาวจีนเหลือปีละไม่เกิน 200 คนในปี 1949 สัดส่วนของแรงงานจีนจึงค่อยๆ ลดลง การที่ประเทศไทยมีแรงงานรับจ้าง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเชื้อสายจีนอยู่นานกว่าหนึ่งศตวรรษทำให้การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานในประเทศไทยระยะแรกเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะถูกเพ่งเล็งโดยรัฐตลอดมา กรรมกรจีนถูกมองเป็นคนต่างด้าว เป็นพาหะนำเชื้อโรคสาธารณะรัฐนิยมและสังคมนิยมเข้ามาเผยแพร่ ซึ่งรัฐไทยถือว่าเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อระบอบการปกครอง ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยจึงพยายามเข้ามาควบคุมจำกัดสิทธิแรงงานเหล่านี้มากกว่าที่จะมาดูแลให้การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของพวกเขา แม้หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไทยได้เข้าร่วมเป็นกลุ่มประเทศผู้บุกเบิกในการริเริ่มจัดตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO แต่รัฐบาลก็ปฏิเสธที่จะออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิของแรงงานตามมติข้อเรียกร้องของ ILO ด้วยข้ออ้างว่าไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีแรงงานอยู่น้อย แท้จริงสิ่งที่รัฐบาลกลัวคือการรวมตัวของแรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติเชื้อสายจีน สิทธิในการรวมตัวของแรงงานในประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการก็ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญในปี 1932 แต่สิทธิดังกล่าวก็เป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ แปรผันไปตามสภาพแวดล้อมทางการเมืองของประเทศที่ประชาธิปไตยไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แต่มักสะดุดหยุดลงด้วยผลจากการทำรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญนับครั้งไม่ถ้วนของคณะทหารไทยและทุกครั้งที่บ้านเมืองตกอยู่ใต้อำนาจรัฐบาลเผด็จการ สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของแรงงานก็จะถูกระงับไปด้วยทุกครั้งไป ความไม่ต่อเนื่องของประชาธิปไตยไทยส่งผลให้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบจารีตนิยมของไทยยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงยิ่งในสังคม ความเชื่อในเรื่องของสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคกันของผู้คนในสังคมยังไม่เป็นที่ยอมรับ ตรงข้ามวัฒนธรรมแบบอุปถัมป์ค้ำชูอันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยได้สร้างลัทธิยอมจำนนและพึ่งพิง ยอมรับในความเหลื่อมล้ำต่ำสูงยอมรับในการปกครองและตัดสินใจโดยคนส่วนน้อยที่มีสถานภาพที่สูงกว่า ซึ่งแนว
ความคิดดังกล่าวไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของสหภาพแรงงาน วัฒนธรรม ค่านิยมและประสบการณ์ทางการเมืองที่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยยาวนาน ทำให้รัฐไทยใช้ความคิดเรื่องความมั่นคงแห่งชาติมาเป็นกรอบใหญ่ในการกำหนดนโยบายด้านแรงงานในประเทศไทยมาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันแรงงานไทยมาเริ่มเคลื่อนย้ายออกจากชนบทเข้าสู่พื้นที่อุตสาหกรรมอย่างจริงจังเอาก็ภายหลังการรัฐประหารของคณะทหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ในปี 1958 ที่อยู่ใต้อิทธิพลและการสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกันอย่างเต็มที่ในช่วงที่อเมริกาส่งทหารเข้ามาทำสงครามเย็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีผลให้ประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมที่รัฐมีบทบาทแทรกแซงทางเศรษฐกิจอย่างมากซึ่งได้ถูกใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 1932 มาเป็นเศรษฐกิจเสรีนิยมตามคำชี้แนะของสหรัฐอเมริกาและธนาคารโลก เริ่มมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติและออกมาตรการและสร้างกลไกหลายอย่างเพื่อส่งเสริมและสร้างสิ่งที่เรียกว่าบรรยากาศในการลงทุนให้กับภาคเอกชน (ซึ่งให้น้ำหนักเป็นพิเศษกับการลงทุนของชาวต่างชาติ) อย่างจริงจัง ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวเติบโตขึ้นบรรษัทข้ามชาติทะลักเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานและนำสู่การจ้างแรงงานเป็นจำนวนมาก ช่วงสี่สิบกว่าปีของการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่นี้ รัฐบาลได้หันมาทุ่มเทให้กับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม การค้าและบริการในเขตเมือง โดยทอดทิ้งภาคการเกษตรกรรมในชนบทให้ค่อยๆ ล่มสลายลง ซึ่งทำให้ผู้คนต้องพากันละทิ้งที่นาเข้ามาทำงานในเขตเมือง แผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐไทยเริ่มจากใช้นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าก่อนในช่วงแรกคือจากปี 1960-1975 ซึ่งมีอุตสาหกรรมทอผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและการประกอบรถยนต์เป็นสาขานำ การจ้างงานค่อนข้างมีความมั่นคง แต่คนงานมีค่าจ้างต่ำเพราะไม่มีอำนาจต่อรอง แต่นับแต่ปี 1976 เป็นต้นมาไทยได้หันไปใช้กลยุทธการพัฒนาเพื่อเน้นการส่งออกซึ่งได้ทำให้เศรษฐกิจไทยไร้เสถียรภาพ ต้องพึ่งพิงการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ วันนี้การส่งออกของไทยมีสัดส่วนสูงถึง 68 % ของGDP การเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศทำให้บางอุตสาหกรรมเติบโตขึ้น เช่น การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานหญิงเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการจ้างงานมีลักษณะที่เป็นการจ้างงานแบบยืดหยุ่น คนงานขาดความมั่นคงในการทำงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอาศัยการใช้แรงงานราคาถูกแบบ 3 L คือ
Low Wage ค่าจ้างแรงงานถูก
Low Productivity ผลิตภาพแรงงานต่ำ และ
Long Working Hour ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน
ทำให้แรงงานไทยมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำแรงงานไทยส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย

11. สถานการณ์ของแรงงานกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทยวันนี้
จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ประเทศไทยมีคนทำงานทั้งสิ้น36.54 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนายจ้าง 0.99 ล้านคน ที่เหลือคือผู้ใช้แรงงานประเภทต่างๆ ดังนี้คือ
1. ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างรัฐ 3.23 ล้านคน จำนวนแรงงานในภาครัฐกำลังมีอัตราส่วนที่ลดน้อยถอยลงด้วยแนวความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ต้องการลดบทบาทภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลไทยได้สนองตอบนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยการแช่แข็งอัตราการจ้างงานในภาครัฐไว้ และมีแนวโน้มหันมาจ้างงานแบบ Outsourcing มากขึ้น อาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐจำนวนมากแปรสภาพเป็นพนักงาน และมีการจ้างอาจารย์จากข้างนอกมาเป็นอาจารย์บรรยายประจำมากขึ้นซึ่งทำให้รัฐไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องสวัสดิการอีกต่อไป นอกจากนี้งานหลายส่วนก็มีการโอนไปให้บริษัทเอกชนทำ เช่น การทำความสะอาด การรักษาความปลอดภัยเป็นต้น จะเห็นได้ว่าจากนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจทำให้จำนวนพนักงานของรัฐวิสาหกิจลดน้อยลง ดังล่าสุด ขสมก.หลังมีมติเช่ารถเอ็นจีวี 4,000 คันเพื่อใช้ระบบ e-Ticket ส่งผลทำให้ต้องเลิกจ้างพนักงานกว่า 8,000 คน
2. แรงงานที่ทำงานอยู่ในภาคเอกชน ซึ่งมีสองประเภท คือ แรงงานภาคเอกชนที่อยู่ในระบบซึ่งมีอยู่ 8,886,681 คน ที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม กับแรงงานเอกชนที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบประมาณ 23 ล้านคน แรงงานกลุ่มหลังได้ขยายตัวอย่างมาก ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ภายหลังการเลิกจ้างแรงงานในระบบที่ส่งผลให้แรงงานเหล่านี้ต้องออกมาอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบอย่างถาวร อีกทั้งระบบการจ้างงานแบบใหม่ของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยได้หันมาใช้วิธีการจ้างงานแบบ outsourcing และ subcontracting มากขึ้น ทำให้ภาคเศรษฐกิจนอกระบบ กลายเป็นการจ้างงานชั่วคราวแบบถาวรของแรงงานไร้ฝีมือจำนวนมากในประเทศไทย
3. ยังมีแรงงานไทยที่ออกไปทำงานในต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่งประมาณ 470,000 คน
4. แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกประมาณ 1 ถึง 2 ล้านคน ผู้ใช้แรงงานแต่ละกลุ่มมีสภาพการจ้าง ค่าจ้าง สวัสดิการ หลักประกันด้านความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ข้าราชการ ทั้งที่เป็นข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนนับเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความมั่นคงในการทำงานกว่ากลุ่มอื่นๆ แม้จะมีค่าจ้างเงินเดือนไม่สูงเท่าลูกจ้างในภาคเอกชน แต่ก็มีสวัสดิการที่ดีกว่า มีสถานภาพทางสังคมสูง เป็นที่ยอมรับนับถือของคนโดยทั่วไป แม้ข้าราชการจะไม่มีกฎหมายรองรับให้มีสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง แต่ก็ได้รับการดูแลอย่างดีจากรัฐ เนื่องจากสถาบันราชการมีความเป็นสถาบันเก่าแก่มีพัฒนาการที่ต่อเนื่องยาวนาน ในไทยคำว่าข้าราชการหมายถึงผู้ที่ทำงานให้พระมหากษัตริย์ตรงข้ามกับลูกจ้างหมายถึง ผู้ที่เป็นลูกจ้างรัฐแต่ไม่ได้รับการบรรจุเข้าเป็นข้าราชการไม่ว่าจะประจำหรือชั่วคราวซึ่งมีจำนวนมากขึ้น คนพวกนี้ไม่มีสถานภาพทางสังคมเท่าข้าราชการ นอกจากได้ค่าจ้างต่ำกว่าแล้ว ยังไม่มีสวัสดิการรองรับเช่น เดียวกับข้าราชการ ทำให้ขาดความมั่นคงในการทำงานพนักงานรัฐวิสาหกิจถือเป็นกลุ่มลูกจ้างที่ถือได้ว่าได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีมากอีกกลุ่มหนึ่ง ด้วยรัฐวิสาหกิจไทยมีพัฒนาการที่ยาวนาน พนักงานสามารถรวมตัวและเจรจาต่อรองได้ องค์กรแรงงานของพนักงานรัฐวิสาหกิจจึงมีความเข้มแข็งการต่อสู้เรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานให้กับการเรียกร้องของลูกจ้างเอกชน แต่เนื่องจากนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินต่อเนื่องโดยรัฐบาลต่างๆ ทำให้พวกเขาอยู่ในสภาพที่ไม่มีความรู้สึกมั่นคงในการทำงาน
มากนัก เพราะเกรงว่าหากมีการแปรรูปไปแล้ว จะมีการเลิกจ้าง และลดทอนสวัสดิการต่างๆที่เคยได้รับลงลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการของภาคเอกชนมีอยู่ประมาณ 9 ล้านคนแรงงานกลุ่มนี้ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายคุ้มครองแรงงานและระบบประกันสังคม แต่แม้จะมีกฎหมายรองรับสิทธิในการรวมตัวกันและเจรจาต่อรองทำข้อตกลงร่วมกันได้ แต่กลับมีแรงงานเพียง 3.73 % เท่านั้นที่รวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน ที่เหลืออีกกว่า 96 % ยังคงเข้าไม่ถึงสิทธิดังกล่าวดังนั้นโดยรวมแล้ว คนงานเหล่านี้มีความอ่อนแอแม้จะมีกฎหมายกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีการละเมิดกฎหมายดังกล่าวเสมอแรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบซึ่งมีมากกว่า 23 ล้านคน แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่ทำงานรับจ้างมีรายได้ประจำ ได้แก่ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน กับกลุ่มที่มีอาชีพอิสระไม่มีนายจ้าง ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือเช่าที่ทำกิน แม่ค้าหาบเร่ แผงลอย ผู้ขับแท็กซี่ และผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้างเป็นต้น กลุ่มแรงงานนอกระบบเหล่านี้ ยังขาดการดูแลอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ส่งผลให้แรงงานนอกระบบไม่ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมไม่มีหลักประกันสุขภาพ หรือสวัสดิการทางสังคมเช่นเดียวกับแรงงานในระบบแรงงานนอกระบบยังมีการรวมตัวกันไม่เข้มแข็งนักจึงไม่มีอำนาจต่อรอง อีกทั้งกฎหมายแรงงานไทยก็ไม่ได้ครอบคลุมแรงงานกลุ่มนี้ แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยที่ได้จดทะเบียนกับทางราชการไทยเมื่อเดือนกันยายนปี 2551 มีจำนวน 501,507 คน แต่แรงงานข้ามชาติในไทยส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศและไม่ได้จดทะเบียน สถาบันวิจัยในประเทศไทยและองค์กรระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่า มีแรงงานข้ามชาติอย่างน้อย 2 ล้านคน ที่ทำงานประเภทที่คนไทยส่วนใหญ่ปฏิเสธ ที่เรียกว่างานประเภท 3 . คือเสี่ยง อันตราย สกปรก และแสนลำบาก แลกกับค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของ
แรงงานในประเทศเป็นอย่างมาก เช่น งานในโรงงานห้องเย็นแช่แข็งอาหารทะเล ในเรือประมงทะเล ในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า งานบ้าน และงานก่อสร้าง เป็นต้นพวกเขามีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์และการถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างสูง เนื่องจากสถานภาพที่ผิดกฎหมาย รวมถึงสภาพการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐานและยังขาดซึ่งกลไกคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างแท้จริง ปัจจุบันพบว่ามีการแสวงประโยชน์จากการใช้แรงงานข้ามชาติอย่างผิดกฎหมาย โดยแรงงานข้ามชาติไม่สามารถรวมตัวเจรจาต่อรองได้ แม้กฎหมายจะเปิดโอกาสให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพได้ แต่ในความเป็นจริง การจ้างงานของพวกเขามีลักษณะชั่วคราวและไม่มีความมั่นคง สามารถถูกเลิกจ้าง และถูกส่งตัวออกนอกประเทศได้อย่างง่ายดายหากไม่มีนายจ้าง ดังนั้นพวกเขาจึงไม่กล้าที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแรงงานกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มแรงงานไทยที่ไปทำงานอยู่ในต่างแดน ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการรวมตัวจัดตั้งกันเป็นองค์กร จะมีก็เฉพาะในบางประเทศ เช่น ฮ่องกง คนงานกลุ่มนี้มักถูกเอารัดเอาเปรียบโดยนายหน้าจัดหางานซึ่งเรียกเก็บค่าหัวคิวราคาแพงมาก ถูกโกงโดยเหล่านายหน้า บางคนถูกส่งไปลอยแพอยู่ในต่างประเทศก็มี จนมีคำกล่าวที่ว่าไปเสียนา มาเสียเมียด้วยคนงานส่วนใหญ่ต้องขายที่นาเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย และค่านายหน้า เพื่อให้ได้ไปทำงานต่างประเทศ แต่เมื่อ กลับมาเมืองไทย จำนวนมากพบว่าภรรยาหนีไปมีสามีใหม่ และยังไม่มีองค์กรใดๆคอยดูแลต่อสู้ เพื่อพวกเขาอย่างจริงจัง ล่าสุดคือ กรณีลอยแพคนงานที่ไปทำงานในสวีเดน แคนาดา และอีกหลายประเทศที่แรงงานต้องจ่ายค่านายหน้าราคาแพงเพื่อไปเป็นคนงานเก็บผลไม้ในป่า ซึ่งเป็นงานที่ยากลำบากมาก ไม่มีการประกัน
รายได้ และที่สำคัญ เสียเงินไปแล้วไม่ได้ทำงาน จึงต้องมาร้องเรียน และมีการพยายามรวมตัวกันเป็นเครือข่ายแรงงานไทยในต่างแดน แต่ก็ยังเป็นระยะแรกเริ่มแรงงานเหล่านี้เมื่อไปทำงานอยู่ในต่างแดน จะเป็นแรงงานที่ไม่มีปาก มีเสียงเพราะไม่สามารถสื่อสารกับนายจ้างหรือทางการได้ จึงต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่ฝ่ายนายจ้างเป็นผู้กำหนด เมื่อถูกเอารัดเอาเปรียบก็ไม่รู้จะไปเรียกร้องกับใคร

12. โครงสร้างของขบวนการแรงงานไทย
ในประเทศไทยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงานยังไม่เป็นที่ยอมรับ ขาดมาตรการส่งเสริม คุ้มครอง และการสร้างหลักประกันทางกฎหมายที่จะมารองรับสิทธิดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ จริงจังและได้ผล ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะแยกสลาย สร้างความแตกแยกและทำลายการรวมตัวกันของคนงานกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย ดังมีการออกกฎหมายอย่างชัดเจนเพื่อจำกัดสิทธิในการรวมตัวกันของคนงาน รัฐบาลไทยเองก็ยังไม่ยอมให้สัตยาบรรณในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะมีบทบัญญัติให้หลักประกันในการรวมตัวกันของผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มอย่างกว้างขวาง แต่ในทางปฏิบัติไม่มีการออกกฎหมายลูกมารองรับการเข้าถึงสิทธิดังกล่าวอย่างจริงจังกฎหมายสำคัญที่ถูกใช้เป็นกรอบในการจัดระบบแรงงานสัมพันธ์และรับรองสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองคือกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี 2518 ก็ไม่สามารถครอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่ม กฎหมายได้จำกัดขอบเขตของการบังคับใช้อยู่เฉพาะแรงงานภาคเอกชนที่มีนายจ้าง ซึ่งมีอยู่เพียงราว 9 ล้านคนเท่านั้น พนักงานรัฐวิสาหกิจถูกแยกออกไปจากกฎหมายฉบับนี้ภายหลังการรัฐประหารของคณะทหารที่เรียกตัวเองว่า รสช. ในปี 2534 กฎหมายรองรับสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของ ข้าราชการและลูกจ้างรัฐยังไม่บัญญัติ ทำนองเดียวกันภาคเกษตรและแรงงานนอกระบบ ก็ยังไม่มีกฎหมายใด ๆ รองรับสิทธิในการรวมตัวกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของไทยให้สิทธิเฉพาะแรงงานที่มีนายจ้างหรือแรงงานในระบบเท่านั้นที่สามารถรวมตัวกันเป็นองค์กรใน 3 ประเภท ได้แก่ 1. สหภาพแรงงาน 2. สหพันธ์แรงงาน และ 3. สภาองค์การลูกจ้าง
สหภาพแรงงาน: จากข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2552 พบว่ามีสหภาพแรงงานของลูกจ้างในภาคเอกชนจดทะเบียนในประเทศไทยทั้งสิ้นจำนวน 1,282 แห่ง โดยมีลูกจ้างเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งสิ้น 352,000 คน หรือเพียงร้อยละ 3.94 จากลูกจ้างทั้งหมดที่อยู่ในสถานประกอบการเอกชน คือ 8,886,681 คนซึ่งเป็นผู้ประกันในระบบประกันสังคมซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มที่มีสิทธิเข้าร่วมสหภาพแรงงานได้ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี 2518 สหภาพแรงงานส่วนใหญ่คือมากกว่าร้อยละ 75 ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดปริมณฑล ขณะที่อีก 37 จังหวัดของประเทศไทยยังเป็นดินแดนปลอดสหภาพแรงงานการที่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยไม่มีสหภาพแรงงานและการที่แรงงานไทยเป็นสมาชิกสหภาพในอัตราส่วนที่น้อยมากนี้ ส่งผลให้คนงานไทยโดยทั่วไปมีอำนาจต่อรองต่ำ จากรายงานสรุปสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ประจำปี 2551 ซึ่งจัดทำโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพบว่าการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างทั่วประเทศที่ ทำโดยฝ่ายลูกจ้างทั้งสิ้นมีเพียง 237 ครั้งในปี 2551 นั้น ส่วนใหญ่เป็นการยื่นโดยสหภาพแรงงาน 203 ครั้ง หรือ คิดเป็นร้อยละ 85.6 ที่เหลือ 34 ครั้งเป็นการยื่นข้อเรียกร้องที่ทำโดยลูกจ้างเอง นี่สะท้อนให้เห็นว่า หากปราศจากสหภาพแรงงานแล้ว ก็ยากที่คนงานจะใช้สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้ไว้ได้ ปัจจุบันมีการกระจายอุตสาหกรรมออกไปยังพื้นที่ต่างๆ มากมาย พื้นที่อุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีสหภาพแรงงาน จึงกลายเป็นพื้นที่แห่งการกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบแรงงานหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ประเทศไทยได้รับคำแนะนำจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ให้หาหนทางควบคุมมิให้ค่าจ้างในประเทศไทยขยายตัว เนื่องจากมองว่าค่าจ้างในไทยมีอัตราสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง จึงเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้า ทำให้รัฐบาลไทยเปลี่ยนแปลงระบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ จากการกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีระดับชาติไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการค่าจ้างรายจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีสหภาพแรงงานหรือมีสหภาพแรงงานน้อยและอ่อนแอ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเช่นนี้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายผู้ประกอบการ เพราะลูกจ้างมีอำนาจการต่อรองต่ำมากในหลายพื้นที่เหล่านั้น สหภาพแรงงานในประเทศไทยเป็นสหภาพแรงงานขนาดเล็กหรือที่เรียกว่าสหภาพแบบสถานประกอบการหรือ house union มีอำนาจการต่อรองน้อยมาก ในหลายประเทศที่มีประชาธิปไตยและขบวนการแรงงานเข้มแข็งสหภาพจะเป็นประเภทสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมหรือ Industrial union ซึ่งมีสมาชิกมากอำนาจการต่อรองจะสูงกว่าสหภาพแรงงานส่วนใหญ่เก็บค่าบำรุงน้อยและเป็นแบบตัวเลขตายตัวหรือfix rate ไม่ใช่แบบเปอร์เซ็นต์จากค่าจ้างเงินเดือน ทำให้มีรายได้น้อยทำให้ยากที่จะบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสหพันธ์แรงงาน: ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี 2518 สหภาพแรงงานตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไปสามารถรวมตัวกันจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหพันธ์แรงงานได้ โดยบทบาทของสหพันธ์แรงงานมักจำกัดอยู่ที่การจัดการศึกษาและให้คำปรึกษากับสหภาพ หาได้มีบทบาทที่สำคัญอย่างชัดเจนในการเจรจาต่อรอง เพราะระบบแรงงานสัมพันธ์ในประเทศไทยการเจรจาต่อรองยังจำกัดอยู่ในระดับสถานประกอบการยังไม่มีการพัฒนาให้เกิดคู่เจรจาระดับอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีสหพันธ์แรงงานที่จดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานทั้งสิ้น 18 แห่ง แต่ละแห่งมีความเข้มแข็งไม่เท่ากันในจำนวน 18 แห่งนี้ มีบางแห่งแทบจะไม่ได้ดำเนินกิจกรรมใดๆ มีสหภาพแรงงานเพียง 212 แห่งจาก 1,282 แห่งเท่านั้นที่เป็นสมาชิกสหพันธ์แรงงาน สหภาพแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหพันธ์แรงงาน การเก็บค่าบำรุงสมาชิกแต่ละสหพันธ์มีอัตราที่ไม่เหมือนกัน แต่โดยรวมแล้วมีอัตราที่ค่อนข้างต่ำ มีสหภาพ จำนวนมากเป็นสมาชิกสหพันธ์โดยไม่จ่ายค่าบำรุงหรือจ่ายต่ำกว่าเกณฑ์ ส่วนใหญ่จะเป็นระบบที่สหภาพแรงงานที่เข้มแข็งกว่าจะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายภายในสหพันธ์ เมื่อแต่ละองค์กรไม่ได้จ่ายค่าบำรุงอย่างสม่ำเสมอเท่าเทียมกัน การมีส่วนร่วมในการบริหารสหพันธ์จึงมีน้อย องค์กรที่จ่ายน้อยกว่าก็จะเข้ามีส่วนร่วมในระดับที่ต่ำกว่า ทำให้สหพันธ์แรงงานไม่เข้มแข็งพอที่จะสร้างการยอมรับจากฝ่ายรัฐและนายจ้างให้ร่วมโต๊ะเจรจากำหนดนโยบายหรือมาตรการระดับอุตสาหกรรมหรือระดับชาติในจำนวนสหพันธ์แรงงาน 18 แห่งที่จดทะเบียนนั้น สหพันธ์แรงงานที่สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่องมักเป็นสหพันธ์แรงงานที่เข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์แรงงานระดับโลก (Global Union Federations) ในภาคอุตสาหกรรมของตน ซึ่งจะทำให้ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณในการจัดกิจกรรมทางวิชาการสภาองค์การลูกจ้าง: สภาองค์การลูกจ้างเป็นองค์กรแรงงานระดับชาติตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่กำหนดว่า ต้องประกอบด้วยสหภาพแรงงาน และ/หรือสหพันธ์แรงงานไม่น้อยกว่า 15 แห่ง รวมกันจดทะเบียนจัดตั้ง ปัจจุบันมีสภาองค์การลูกจ้างมากถึง 12 แห่ง อันสะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกไม่เป็นเอกภาพของขบวนการแรงงานไทยได้เป็นอย่างดี องค์กรระดับสภาส่วนใหญ่ไม่มีความโปร่งใสทำให้มีผู้นำแรงงานบางส่วนเข้าไปแสวงหาตำแหน่งและผลประโยชน์เข้าตัวและพรรคพวก ข่าวคราวเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นในวงการแรงงานระดับสภาองค์การลูกจ้างมีให้เห็นเสมอๆ แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีการตรวจสอบอย่างจริงจังและสามารถดำเนินคดีเอาผิดกับเหล่าเหลือบที่เข้ามาหากินได้สักครั้ง สภาองค์การลูกจ้างบางแห่งก็เป็นเสมือนทรัพย์สมบัติส่วนตัวของผู้นำ การตัดสินใจใดๆ ล้วนขึ้นอยู่กับผู้นำ และบางแห่งผู้นำเป็นผู้รับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ ขององค์กรเองด้วยซ้ำด้วยเหตุที่ประเทศไทยมีสภาองค์การลูกจ้างมากถึง 12 แห่ง ทำให้การทำงานขององค์กรระดับสภาที่เป็นการทำงานเชิงกำหนดมาตรการและนโยบายระดับชาติไม่เป็นเอกภาพ ไม่เป็นเสียงเดียวกัน ทำให้รัฐบาลสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระไม่ได้ให้ความสนใจต่อเสียงเรียกร้องของสภาเหล่านั้น หรือไม่ก็เลือกที่จะฟังเสียงของบางสภาที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐเท่านั้นนอกจากองค์กรแรงงานทั้ง 3 รูปแบบที่กฎหมายกำหนดให้แล้ว ในประเทศไทยผู้ใช้แรงงานยังมีการรวมตัวในรูปแบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากข้อกำหนดของกฎหมาย เช่น การรวมตัวกันเป็นกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรมต่างๆ สมาพันธ์แรงงาน หรือ ในรูปคณะทำงานเฉพาะกิจต่างๆ แต่การรวมตัวดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับและไม่ได้รับการยอมรับการรัฐ ในส่วนของแรงงานที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิในการรวมตัว แต่แรงงานเหล่านี้ก็มีความพยายามที่จะรวมตัวกันในรูปแบบต่างๆ เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่เพื่อการเจรจาต่อรองในลักษณะเดียวกันกับสหภาพแรงงาน เช่น การรวมตัวของผู้ขับรถแท็กซี่ในรูปชมรมหรือสหกรณ์ การรวมตัวกันของพวกวินมอเตอร์ไซด์ การรวมตัวกันของแรงงานภาคเกษตร ปัจจุบันมีการจัดตั้งเป็นเครือข่ายของแรงงานนอกระบบขึ้นหลายเครือข่าย แต่ยังไม่มีพลังในการต่อรองมากมายนัก ส่วนแรงงานข้ามชาติในไทยไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสหภาพแรงงานของตนเองและไม่สามารถเป็นกรรมการสหภาพได้ แม้จะมีสิทธิสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ 2518 แต่ในข้อเท็จจริงแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เนื่องจากเกรงว่าจะถูกกลั่นแกล้ง หรือเลิกจ้างกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรม: ในประเทศไทย สหภาพแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ได้มีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันในรูปของกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมเดียวกัน การรวมตัวกันในลักษณะพื้นที่หรือกลุ่มย่านนั้นมีมานานแล้ว ตั้งแต่ในช่วงการฟื้นฟูขบวนการแรงงานหลังเหตุการณ์โค่นล้มเผด็จการที่นำโดยขบวนการนักศึกษาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 กลุ่มย่านอุตสาหกรรม ถึงแม้จะเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ก็มีบทบาทสำคัญเพราะเป็นการรวมกลุ่มตามธรรมชาติที่สมาชิกมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นใกล้ชิดกันอย่างแท้จริง มีลักษณะเป็นองค์กรชุมชนที่นอกจากจะทำหน้าที่ในฐานะองค์กรแรงงานแล้ว ยังทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกับชุมชนในพื้นที่ด้วย จึงนับเป็นองค์กรที่สามารถระดมมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่เนื่องด้วยการรวมตัวกัน เป็นการรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีกฎหมายรองรับ การจัดเก็บค่าบำรุงจึงไม่เคร่งครัดนัก โดยปกติแล้วสหภาพที่เข้มแข็งและใหญ่กว่าในพื้นที่จะมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของกลุ่มเป็นหลักนอกจากนี้ยังมีพื้นที่อุตสาหกรรมหลายแห่งที่ยังไม่มีการรวมกลุ่มในลักษณะกลุ่มย่านอุตสาหกรรมปัจจุบันการรวมกลุ่มในลักษณะกลุ่มย่านอุตสาหกรรมมีอยู่ 8 กลุ่มด้วยกันกลุ่มย่านอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่งที่สุด คือ กลุ่มภาคตะวันออก ซึ่งแม้จะเป็นกลุ่มที่เพิ่งขยายตัวพัฒนาหลังการเปิดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง กลุ่มนี้ประกอบด้วยสหภาพแรงงานขนาดใหญ่จำนวนมาก และมีผู้นำแรงงานรุ่นใหม่ที่มีไฟแรงร่วมทำงานอยู่หลายคน องค์กรแรงงานในภาครัฐวิสาหกิจ: ในอดีตประเทศไทยเคยมีรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก เนื่องจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมของรัฐบาลนับแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา ทำให้รัฐเข้าไปลงทุนในกิจการบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค และกิจการขนาดใหญ่ที่คนไทยไม่อาจลงทุนแข่งขันกับทุนต่างชาติ กิจการรัฐวิสาหกิจ มีการจ้างแรงงานจำนวนมาก คนงานรัฐวิสาหกิจมีพัฒนาการการต่อสู้เพื่อสิทธิประโยชน์ของตนที่ยาวนาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในขบวนการแรงงานไทยตลอดมา มีสมาชิกมากมีการศึกษาค่อนข้างสูง หลายสหภาพ มีกรรมการและเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานเต็มเวลาให้กับองค์กรได้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกับสหภาพแรงงานของภาคเอกชนที่แต่เดิมเคยร่วมมือกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน มีส่วนทำให้ขบวนการแรงงานเข้มแข็งมีพลัง ซึ่งรัฐจะไม่ค่อยพอใจ พยายามจะทำลายและแยกสลายการรวมตัวนี้ จนกระทั่งภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2534 รัฐบาลเผด็จการทหารจึงได้สั่งยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และแม้ต่อมาคนงานจะได้รับสิทธิสหภาพแรงงานกลับคืนมา ตามกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ในปี 2543 แต่ก็ได้ทำการแยกแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากภาคเอกชน โดยกฎหมายกำหนดให้ในแต่ละรัฐวิสาหกิจสามารถจัดตั้งสหภาพได้เพียง 1 สหภาพ ด้านหนึ่งอาจเป็นการริดรอนสิทธิในการรวมตัวกัน แต่อีกด้านหนึ่ง ได้ทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจมีความเข้มแข็งและเป็นเอกภาพแบบที่ไม่เคยเกิดมาก่อน แม้ในอดีตบางรัฐวิสาหกิจมีการจัดตั้งสหภาพมากถึง 26 แห่ง แม้จะมีความเป็นเอกภาพ และมีคนงานเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจมากมาย แต่หากพิจารณาที่การเก็บค่าบำรุงสมาชิกแล้วก็พบว่าสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจก็ไม่ได้แตกต่างจากสหภาพแรงงานในภาคเอกชน คือเก็บค่าบำรุงน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นระบบเก็บเป็นตัวเลขตายตัวในอัตราที่น้อยมาก ส่วนใหญ่อยู่ที่ 15-30 บาท ต่อเดือนเท่านั้น ขณะที่พนักงานมีเงินเดือนค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า สมาชิกสหภาพมิได้มีความสนใจและผูกพันกับสหภาพแรงงานมากนัก ภาพของความเร่าร้อนกระตือรือร้นของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจที่เคยเป็นในอดีต ในวันนี้ได้คลายลงอย่างมาก สมาชิกให้ความสนับสนุนและร่วมมือกับองค์กรไม่มากนักดูได้จากการที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจมีสมาชิกรวมกันมากกว่า 170,000 คน แต่ไม่สามารถรวบรวมลายมือชื่อให้ครบ 10,000 ชื่อ เพื่อใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการนำเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิก พ... ทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้ให้อำนาจแก่รัฐบาลในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้อย่างง่ายดาย ณ ปัจจุบันมีสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจรวม 40 แห่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจมีการรวมตัวกันเป็นสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ซึ่งถือเป็นองค์กรระดับชาติของคนงานรัฐวิสาหกิจ สรส.มิได้เป็นองค์กรที่มีกฎหมายรองรับ แต่ทว่ามีบทบาทและมีพลังมาก เนื่องจากมีสมาชิกจำนวนมาก แต่ภายในสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจหาได้มีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน มีการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจการบริหารองค์กรนี้ตลอดมา ถึงขั้นมีการเสนอถอดถอนผู้นำระหว่างอยู่ในตำแหน่งมาแล้ว ความไม่เป็นเอกภาพนี้ได้ปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจน เมื่อมีสมาชิกสหภาพ 12 แห่งได้รวมตัวกันไปขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจกรุงเทพฯ ซึ่งตามกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ทำให้เกิดกรณีองค์กรซ้อนองค์กรขึ้นมา ซึ่งได้ทำให้ภาพความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแรงงานรัฐวิสาหกิจสิ้นสุดลงนับแต่ปี 2550 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ได้รับการรับรองให้เข้าเป็นสมาชิกสมาพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศหรือ International Trade Union Confederation (ITUC) สหภาพรัฐวิสาหกิจหลายแห่งเป็นสมาชิกของสหพันธ์แรงงานระดับโลกหรือGUFs ทำให้ภายในสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจมีการรวมกันเป็นกลุ่มย่อยของสหภาพที่เป็นสมาชิกของ GUFs ต่างๆ เช่น สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ ITF, สหพันธ์แรงงานภาคบริการระหว่างประเทศ PSI, เครือข่ายสหภาพแรงงานระหว่างประเทศUNI และสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ ICEM เป็นต้นเป็นที่น่าสังเกตว่า ในอดีตขบวนการแรงงานไทย เคยเป็นการรวมตัวกันอย่างกว้างขวางของแรงงานทุกภาคส่วนทั้งในระบบและนอกระบบ นับแต่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี 2518 มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ได้ส่งผลให้ขบวนการแรงงานในประเทศไทยกลายเป็นขบวนการของผู้ใช้แรงงานที่เป็นแรงงานที่อยู่ในระบบเท่านั้น ทำให้แรงงานนอกระบบถูกผลักออกไปจากขบวนการแรงงานไทย ส่งผลให้ขบวนการแรงงานไทยกลายเป็นขบวนการที่เล็ก อ่อนแอและไม่มีความเป็นองค์กรตัวแทนของคนงานอย่างแท้จริงนับแต่นั้นมา

13. โลกาภิวัฒน์กับผลกระทบต่อผ็ใช้แรงงาน และขบวนการแรงงานไทย
บริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการเมืองของไทยเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นคุณกับผู้ใช้แรงงานและขบวนการแรงงานไทย ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเราที่มีประสบการณ์ภายใต้ระบบอำนาจนิยมมายาวนาน ทำให้ผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง มีสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่ต่ำวัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมป์ค้ำชู ที่ทำให้กรอบแรงงานสัมพันธ์ของไทยยังเป็นแบบกรอบโบราณนายกับบ่าวที่มอบอำนาจในการตัดสินใจเรื่องค่าจ้าง สภาพการจ้าง สวัสดิการของคนงานให้กับนายจ้างและฝ่ายบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ การมีส่วนร่วมของคนทำงานถูกปฏิเสธทั้งจากฝ่ายรัฐและฝ่ายทุน แม้กระทั่งตัวของผู้ใช้แรงงานเองยังยอมจำนนอยู่กับกรอบคิดดังกล่าว การปฏิเสธแนวคิดเรื่อง สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองที่มีอยู่ดั้งเดิมอยู่แล้ว มาผนวกกับกระแสโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ที่ถาโถมเข้าใส่ประเทศไทยกลายเป็นแรงหนุนเนื่องให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยอย่างรุนแรง รูปแบบการจ้างงานแบบใหม่ที่ระบาดไปทั่วโลกได้คืบคลานเข้าสู่ประเทศไทยเช่นกัน การจ้างงานอย่างยืดหยุดระบบout source ระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วง เหมาค่าแรง ได้แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 คนงานจำนวนมหาศาลที่ถูกเลิกจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวถูกแปรสภาพเป็นแรงงานนอกระบบ เป็นผู้รับงานไปทำที่บ้าน พวกเขาไม่อาจกลับคืนสู่การเป็นแรงงานในระบบได้แม้ภายหลังที่เศรษฐกิจฟื้น การจ้างงานแบบเหมาช่วง เหมาค่าแรงได้กลายเป็นรูปแบบการจ้างงานถาวรไปเสียแล้วในประเทศไทย แรงงานภายใต้สภาพการจ้างงานเช่นนี้เป็นกลุ่มที่อ่อนแอมาก ได้รับค่าจ้างต่ำ สวัสดิการเลว ต้องทำงานยาวนานภายสภาพการทำงานที่เลวร้าย คนงานพวกนี้ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ไร้อำนาจการต่อรอง ไม่อาจรวมตัวและต่อรองสิทธิใด ๆ ได้ นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้อย่างง่ายดาย เมื่อเกิดวิกฤติรอบหลังเมื่อปี 2009 คนงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่ถูกเลิกจ้าง โดยส่วนใหญ่ไม่ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย ผู้ใช้แรงงานไทยในยุคโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่นี้มีอำนาจต่อรองได้น้อย เพราะเมื่ออ้าปากจะต่อรอง พวกเหล่านายจ้างที่เป็นบรรษัทข้ามชาติก็มักจะข่มขู่ว่า หากเรียกร้องมากๆ พวกเขาจะปิดโรงงานและย้ายไปลงทุนที่ประเทศอื่น รัฐบาลไทยไม่ว่าจะมาจากพรรคไหนล้วนมีนโยบายไม่แตกต่างกัน คือเอาใจนายทุน ละเลยสิทธิของคนงาน พยายามให้สิทธิพิเศษมากมายแก่ฝ่ายนายจ้าง แม้ประเทศไทยจะไม่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการส่งออกที่มีกฎหมายห้ามการรวมตัวของคนงาน แต่ในทางปฏิบัติกระบวนการจัดตั้งสหภาพแรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีนักลงทุนข้ามชาติเข้ามาดำเนินกิจการมีมาตรการหลายอย่างเพื่อกีดกันคนงานไม่ให้รวมตัวกันรัฐบาลไทยทุกชุดที่ผ่านมาต่างขานรับกระแสโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่อย่างสุดริ่มทิ่มประตู ไม่ว่าจะเป็นการลดบทบาทของรัฐในเรื่องทางสังคม นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเปิดเสรีทางการค้าโดยละเลยมาตรการด้านการคุ้มครองทางสังคมและแรงงานขบวนการแรงงานไทยที่อ่อนแออยู่แล้วอันเป็นผลมาจากกฎหมาย วัฒนธรรมและการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อมาเจอกับกระแสโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่นี้ ทำให้ขบวนการแรงงานทำงานยากยิ่งขึ้นในอันที่จะปกป้องรักษาผลประโยชน์ให้กับคนงาน ช่วงระยะเวลา 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมา นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากยิ่งของขบวนการแรงงานไทย การเคลื่อนไหวเรียกร้องเป็นไปอย่างยากลำบาก การเรียกร้องค่าจ้าง สวัสดิการ ถูกมองว่าจะเป็นการทำให้ประเทศไทยสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน บรรษัทข้ามชาติส่วนหนึ่งมีนโยบายเชิงรุกกับสหภาพแรงงาน มีการข่มขู่ คุกคามและเสนอประโยชน์ให้ผู้นำแรงงานเพื่อที่จะทำลายสหภาพลงไป

14. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย : การจัดรูปขบวนใหม่ของขบวนการแรงงานไทยเพื่อตอบโต้กระแสโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่
ผลของโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ ได้ทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอ มีขนาดเล็กลง จำนวนสมาชิกถดถอย ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิมหลายประเทศได้ปรับยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับโลกาภิวัตน์ด้วยการควบรวมองค์กรที่มีอยู่เข้าด้วยกัน บางประเทศขบวนการแรงงานหันไปสร้างสิ่งที่เรียกว่าสหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการทางสังคมหรือ Social Movement Unionism โดยได้ปรับเปลี่ยนขบวนการแรงงานที่จำกัดอยู่เฉพาะองค์กรสหภาพแรงงานของคนงานในระบบที่มีน้อยลง ไปเป็นการขยายกันจัดตั้งคนงานอย่างกว้างขวางในทุกภาคส่วนในหลายรูปแบบไม่เพียงแค่ในรูปสหภาพแรงงาน แต่ยังรวมถึงองค์กรจัดตั้งของแรงงานอิสระอื่นๆ อีกทั้งผนวกเอาองค์กรภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน เข้ามารวมเป็นขบวนการเดียวกัน รูปแบบของการรวมตัวแบบนี้ได้เกิดขึ้นในหลายแห่งในโลกเช่น บราซิล อัฟริกาใต้ แคนาดา เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ การรวมตัวในรูปแบบดังกล่าวได้ทำให้ขบวนการแรงงานกลับเข้มแข็งขึ้น สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในประเทศไทยปรากฏการณ์ได้กล่าวได้เกิดขึ้นเช่นกันคือการปรากฏตัวขององค์กรแรงงานที่ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทที่โดดเด่นที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่เรียกตัวเองว่าคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยซึ่งถือกำเนิดในปี 2543 ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์อันเชี่ยวกรากของลัทธิเสรีนิยมใหม่ และในสภาวการณ์ที่ขบวนการแรงงานไทยกำลังอยู่ในสภาพอ่อนแอ การขยายการจัดตั้งเป็นไปอย่างยากลำบาก คนงานถูกเลิกจ้าง ภาคเศรษฐกิจนอกระบบขยายตัว สหภาพแรงงาน
จำนวนมากถูกปิดตัวลงพร้อมๆ กับโรงงานที่ปิดตัวลงในช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น องค์กรแรงงานระดับชาติแตกแยกแบ่งเป็นฝักฝ่าย ช่วงชิงผลประโยชน์ในองค์กรไตรภาคี ขาดความเป็นเอกภาพในการทำงาน ไม่สามารถพูดเป็นเสียงเดียวกัน ทำให้รัฐไม่รับฟังเสียงเรียกร้องของคนงาน เป็นสภาวะขาดซึ่งองค์กรนำในการทำการรณรงค์เคลื่อนไหวแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้แรงงานอย่างต่อเนื่อง ประจวบกับที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 ได้ส่งผลให้อุสาหกรรมจำนวนหนึ่งล่มสลาย โรงงานจำนวนมากได้ถูกปิดตัวลง คนงานจำนวนมหาศาลถูกเลิกจ้าง พิษภัยของวิกฤติครั้งนั้นทำให้สหภาพแรงงานหลายแห่งต้องสลายตัวไปพร้อมๆ กับการปิดโรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ คนงานจำนวนมากกลายเป็นคนตกงานหรือไม่ก็ถูกผลักออกไปเป็นแรงงานนอกระบบ ปรากฏการณ์นี้ได้ทำให้สหภาพแรงงานและขบวนการแรงงานไทยโดยส่วนรวมสูญเสียอำนาจการต่อรอง ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ได้ออกแบบให้การเมืองไทยเปลี่ยนไปเป็นการเมืองที่ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็งมาก ต่อมาเมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งและสามารถควบรวมกับพรรคการเมืองอื่นๆ จนกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ซึ่งได้ส่งผลให้อำนาจการต่อรองทางการเมืองของฝ่ายผู้ใช้แรงงานตกต่ำลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ได้กลายเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้นำองค์กรแรงงานจากหลายภาคส่วนที่มองเห็นปัญหาร่วมกันได้ตัดสินใจมารวมตัวทำงานร่วมกันให้ใกล้ชิด เพื่อสร้างพลังและประสิทธิภาพในการรณรงค์แก้ปัญหาให้กับผู้ใช้แรงงานมากขึ้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยประกอบขนึ้ดว้ ยการรวมตวั กนั ของสภาองคก์ ารลกู จ้างแรงงาน สหพันธ์แรงงาน กลมุ่ สหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรม สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ เครือข่ายแรงงานนอกระบบและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้หยิบยกเอาประเด็นปัญหาที่สำคัญของแรงงานทุกภาคส่วนทั้งรัฐวิสาหกิจ แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติขึ้นมาศึกษารณรงค์เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเอาจริงเอาจัง มีการแบ่งหน้าที่ แบ่งประเด็นปัญหา ให้องค์กรสมาชิกเข้ามาเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบติดตามปัญหาอย่างจริงจัง ด้วยการทำงานที่จริงจังและต่อเนื่องการที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ผนวกเอาองค์กรแรงงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในและนอกระบบ รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาอยู่ในโครงสร้างของตน ทำให้ประเด็นการเคลื่อนไหวมีความรอบด้าน ครอบคลุมปัญหา ของแรงงานทุกภาคส่วน ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพขึ้นระดับหนึ่งของขบวนการแรงงานในประเทศไทยที่สูญหายไปนานนับแต่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์มีสภาพบังคับใช้แปรให้ขบวนการแรงงานเปลี่ยนจากการเป็นขบวนการขององค์กรสหภาพแรงงานจำนวนน้อยนิด ไปสู่การเป็นขบวนการแรงงานในความหมายกว้างที่มีความครอบคลุมทั้งปัญหาและกลุ่มแรงงานที่กว้างขวางกว่าเดิม ดังนั้นเพียงไม่นานหลังที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยขึ้นมา องค์กรนี้ก็ได้กลายเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง สื่อมวลชนติดตามเสนอข่าวสารกิจกรรมและการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยอย่างต่อเนื่องจนเข้ายึดพื้นที่สื่อแทนองค์กรแรงงานอื่นๆ ที่มีอยู่ แม้จะไม่ได้เป็นองค์กรที่จดทะเบียนและมีกฎหมายรองรับแต่ด้วยบทบาทที่โดดเด่น ทำให้หน่วยงานรัฐซึ่งมักกล่าวหาว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ แรงงานไทยเป็นองค์กรเถื่อน องค์กรนอกกฎหมาย แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธที่จะไม่ทำงานกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้แต่แม้จะประสบความสำเร็จในการทำงานระดับหนึ่ง แต่คณะกรรมการสมานฉันท์ แรงงานไทยได้พบว่าโครงสร้างที่เป็นการรวมตัวในรูปคณะกรรมการประสานงานขององค์กรระดับสหพันธ์แรงงาน กลุ่มย่านฯ และองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งไม่มีการจ่ายค่าบำรุงอย่างจริงจัง ไม่มีโครงสร้างที่เชื่อมโยงเข้าไปถึงสมาชิกสหภาพในโรงงานได้จริง ดังจะเห็นว่าโครงสร้างที่เป็นอยู่ไม่อาจสร้างความเข้มแข็งและความสำเร็จที่ยั่งยืนได้ เพราะการรวมตัวแบบนี้มีลักษณะหลวม ไม่เป็นทางการและชั่วคราวมากทั้งยังไม่สามารถระดมทั้งบุคลากรและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดภายในขบวนการแรงงานให้แปรมาเป็นพลังร่วมได้อย่างแท้จริง ไม่สามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นเอกภาพ การมีส่วนร่วม ความรู้สึกเป็นเจ้าของของคนงาน ไม่สามารถสร้างประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการทำงาน และการพึ่งตนเองได้ ดังนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงได้อุทิศเวลาในปี 2008 ให้กับการคิดค้นเพื่อปรับโครงสร้างองค์กรเสียใหม่เพื่อแก้ปัญหาข้อบกพร่องของตน โดยชูคำขวัญเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้มแข็งเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกในที่สุดและในที่สุดต้นปี 2009 ที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยก็ได้มีมติร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ปรับเปลี่ยนธรรมนูญองค์กรเสียใหม่ซึ่งจะมีผลทำให้โครงสร้างของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป โดยจะให้องค์กรระดับสหภาพแรงงานเข้าเป็นสมาชิกกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานโดยตรง ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างคนงานพื้นฐานกับองค์กรเคลื่อนไหวเชิงนโยบายระดับชาติ ซึ่งจะทำให้มีการสะท้อนปัญหาโดยตรงจากคนงานและทำให้ประเด็นเคลื่อนไหวได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากสมาชิกมากขึ้น แต่จะเน้นที่การรณรงค์ให้มีการขยายการจัดตั้งสหภาพแรงงานใหม่อย่างกว้างขวาง โดยให้มีการเก็บค่าบำรุง 1% ของค่าจ้างของคนงานสมาชิก จากนั้นสหภาพแรงงานจะส่งรายได้ที่เก็บจากสมาชิกส่งมายังคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 25% โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจะแบ่งค่าบำรุงนี้ออกเป็น 5 ส่วน ส่วนที่หนึ่งจะเก็บไว้เพื่อการบริหารและดำเนินกิจกรรมของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเอง 20% ส่วนที่สองจะส่งให้กับสหพันธ์แรงงานในอุตสาหกรรมเดียวกับสหภาพสมาชิกนั้น 50% สหพันธ์แรงงานจะเข้ามาอยู่ภายในโครงสร้างใหม่ทำหน้าที่ดูแลแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของตน ส่วนที่สามจะส่งให้กลุ่มย่านฯ 15% กลุ่มย่านอุตสาหกรรม จะกลายเป็นสาขาที่ดูแลแรงงานในพื้นที่ของตน และจะสะท้อนปัญหาของแรงงานในพื้นที่ขึ้นมาที่ส่วนกลางและเชื่อมโยงให้คนงานในพื้นที่สามารถติดตามสถานการณ์และให้การสนับสนุนการทำงานในระดับชาติและระดับอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่สี่จะส่งเป็นค่าบำรุงสมาชิกให้ องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง 10% และ ส่วนที่ห้าจะส่งให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาและวัฒนธรรมของขบวนการแรงงานไทย 5% จะเห็นได้ว่าภายใต้โครงสร้างใหม่นี้จะทำให้เกิดการเกิดขึ้นใหม่ของทุกๆ สหภาพและจะมีผลทำให้องค์กรแรงงานในทุกระดับเข้มแข็งตามขึ้นไปด้วย และจะมีการทำงานที่เชื่อมประสานได้ทั้งในแนวระนาบและแนวดิ่งคณะกรรมการบริหารของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจะประกอบด้วยตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งจากทุกพื้นที่และจากทุกภาคอุตสาหกรรมนอกจากสมาชิกที่เป็นองค์กรสหภาพแรงงานแล้ว โครงสร้างใหม่จะเปิดรับองค์กรสมาชิกในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่สหภาพแรงงานของแรงงานนอกระบบ เช่น เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแท็กซี่ เครือข่ายผู้ขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง และองค์กรจัดตั้งของลูกจ้างในภาครัฐทั้งหลาย เป็นต้นการปรับโครงสร้างนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อพิสูจน์ว่าจะสามารถพัฒนาไปตามแนวทางที่ได้วางไว้หรือไม่ ปัญหาและอุปสรรคของการปรับโครงสร้างมีมากมาย ปัญหาใหญ่คือความเข้าใจต่อสภาพปัญหาที่ขบวนการแรงงานไทยเผชิญอยู่ ความกระตือรือร้นของผู้นำแรงงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ว่าจะเข้าร่วมสนับสนุนกระบวนการปรับโครงสร้างนี้หรือไม่อย่างไร แต่นี่คือโอกาสสำคัญสำหรับขบวนการแรงงานไทยที่จะหลุดพ้นจากสภาพอ่อนแอและการตกเป็นฝ่ายถูกกระทำจากรัฐและทุนโลกาภิวัตน์ มีแต่ขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งเป็นเอกภาพเท่านั้นที่จะสามารถต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของมวลผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนข้างมากของสังคมได้ สามารถรับมือกับความโหดร้ายและการเอารัดเอาเปรียบของฝ่ายทุนในยุคโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่นี้ได้

*****************************

บรรณานุกรม
Andrew Brown, Labour, Politics and the State in Industrializing Thailand (London
and New York: Routledge Curzon, 2004)
Anthony Ince, Beyond ‘Social Movement Unionism’: Understanding and Assessing
New wave Labour Movement Organising (NN,NN)
Christoph Scherrer and Thomas Greven, Global Rules for Trade: Codes of Conduct, Social
Labeling, Workers’ Rights Clauses (Munster: Westfalisches Dampfboot, 2001)
Felipe Gonzales and others Shaping Globalisation (Bonn: Friedrich Ebert Stiftung, 1998)
ILO Training matterial, Globalization (Turin: Workers’ Activities Programme
(ACTRAV) ILO Internation Traing Centre, 2009)
ITUC, A Trade Union Guide to Globalisation (Brussels: ITUC, 2006)
Kaia Philips and Raul Eamets, Impact of globalisation on infustrial relations in the
EU and other major economies (Dublin: European Foundation for the
improvement of living and working conditions, 2007)
Noeleen Heyzer Daughters in industry: work skills and conciousness of women
workers in Asia (Kuala Lumpur: Asian and Pacific Development Centre, 1988)
Werner Sengenberger, Globalization and Social Progress: The Role and Impact of
International Labour Standard (Bonn: Friedrich Ebert Stiftung, 2005)
Tony Browne, Lolidarity Building a Global Metalworkers Movement (London:
International Metalworkers’ Federation, NN.)
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย รายงานการสำรวจข้อมูลพื้นฐานโครงสร้างขบวนการ
แรงงานไทย(กรุงเทพฯ: คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, 2008)
บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ แรงงานกับสังคมไทย บนเส้นทางแห่งการพัมนา (กรุงเทพฯ:
มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท, 2538)
บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ สิทธิแรงงานไทยในยุคโลกาภิวัตน์ (กรุงเทพฯ: สถาบันการ
ศึกษาแรงงานเสรีเอเชีย-อเมริกันร่วมกับมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, 1994)
บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ สิทธิแรงงานไทยในกระแสการค้าโลก (กรุงเทพฯ: สถาบันการ
ศึกษาแรงงานเสรีเอเชีย-อเมริกันร่วมกับมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, 1996)__