วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2556


ประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2556
ประชากรคาดประมาณ ณ กลางปี 2556 (1 กรกฎาคม)


1.จำนวนประชากรทั้งประเทศ
64,623,000    
2. จำนวนประชากรแยกตามเพศ
     ชาย
     หญิง
31,438,000   
33,185,000   
3. จำนวนประชากรแยกตามเขตที่อยู่อาศัย
     เขตเมือง (ประชากรที่อยู่ในเขตเทศบาล และเมืองทุกประเภท)
     เขตชนบท (ประชากรที่อยู่นอกเขตเมือง)
29,662,000   
34,961,000   
4. จำนวนประชากรแยกตามภาค
     กรุงเทพมหานคร
     ภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพ)
     ภาคเหนือ
     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
     ภาคใต้
7,791,000   
17,511,000   
11,588,000   
19,093,000   
8,640,000   
5. จำนวนประชากรแยกตามกลุ่มอายุ
    ประชากรวัยเด็ก (ต่ำกว่า 15 ปี)
    ประชากรวัยแรงงาน (15 - 59 ปี)
    ประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)
    ประชากรสูงอายุ (65 ปีขึ้นไป)
    ประชากรก่อนวัยเรียน (0 - 5 ปี)
    ประชากรวัยเรียน (6 - 21 ปี)
    สตรีวัยเจริญพันธุ์ (15 - 49 ปี)
12,123,000   
42,983,000   
9,517,000   
6,408,000   
4,524,000    14,027,000   
17,388,000   
6. อัตราชีพ
     อัตราเกิด (ต่อประชากรพันคน)
     อัตราตาย (ต่อประชากรพันคน)
     อัตราเพิ่มตามธรรมชาติ (ร้อยละ)
     อัตราตายทารก (ต่อการเกิดมีชีพพันราย)
     อัตราตายเด็ก (ต่อการเกิดมีชีพพันราย)
11.6   
7.7   
0.4   
11.2   
18.4   
7. อายุคาดฉลี่ยเมื่อแรกเกิด ( จำนวนปีเฉลี่ยที่คาดว่าบุคคลที่เกิดมาแล้วจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกกี่ปี)
     ชาย
     หญิง
71.1   
78.1   
8. อายุคาดฉลี่ยที่อายุ 60 ปี (จำนวนปีเฉลี่ยที่คาดว่าผู้ที่มีอายุ 60 ปี จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกกี่ปี)
     ชาย
     หญิง
19.9   
23.1   
9. อายุคาดเฉลี่ยที่อายุ 65 ปี (จำนวนปีเฉลี่ยที่คาดว่าผู้ที่มีอายุ 65 ปี จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกกี่ปี)
     ชาย
     หญิง
16.3   
19.1   
10. อัตราเจริญพันธุ์รวม (จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยต่อสตรีคนหนึ่งจะมีตลอดวัยเจริญพันธุ์ของตน)
1.6    
11. อัตราคุมกำเนิด (ร้อยละ)
79.6    
12. ประมาณประชากรในอีก 20 ปี (พ.ศ. 2576)                                                                                                 65,759,000
     ชาย
     หญิง
31,633,000   
34,126,000   

คำอธิบายข้อมูล

- อัตราเกิด (ต่อประชากรพันคน) : จำนวนการเกิดทั้งหมดในปีหนึ่ง หารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมดเมื่อกลางปีนั้น คูณด้วย 1000
- อัตราตาย (ต่อประชากรพันคน) : จำนวนการตายทั้งหมดในปีหนึ่ง หารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมดเมื่อกลางปีนั้น คูณด้วย 1000
- อัตราเพิ่มธรรมชาติ (ร้อยละ) : จำนวนเกิด ลบด้วย จำนวนตาย หารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมดเมื่อกลางปี คูณด้วย 100
- อัตราตายทารก ( ต่อการเกิดมีชีพพันคน) : จำนวนทารกตายเมื่ออายุต่ำกว่า 1 ขวบในรอบหนึ่งปี หารด้วยจำนวนการเกิดมีชีพทั้งหมดในปีนั้น คูณด้วย 1000
- ตราตายเด็ก ( ต่อการเกิดมีชีพพันคน) : จำนวนเด็กตายเมื่ออายุต่ำกว่า 5 ปีในรอบหนึ่งปี หารด้วยจำนวนการเกิดมีชีพทั้งหมดในปีนั้นคูณด้วย 1000
- อัตราเจริญพันธุ์รวม : จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีคนหนึ่งจะมีตลอดวัยเจริญพันธุ์ของตน คำนวณได้จากการรวมอัตราเกิดรายอายุของสตรีตลอดวัยเจริญพันธุ์
- อัตราคุมกำเนิด : ร้อยละของสตรีอายุ 15-49 ปี ที่แต่งงงานแล้วและยังอยู่กินกับสามีที่กำลังใช้วิธีคุมกำเนิดชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่
- จำนวนปีเฉลี่ยที่คาดว่าผู้ที่อายุ 60 ปีจะมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยยังคงทำกิจวัตรประจำวันได้เอง กล่าวคือ สามารถที่จะรับประทานอาหาร แต่งตัว อาบน้ำ เข้าห้องน้ำ และเคลื่อนไหวภายในบ้านได้โดยไม่ต้องมีผู้อื่นช่วยเหลือ

พิรามิดประชากรประเทศไทย

 
 

Source – Statistics Thailand 1960, 1980, 2000. National Statistics Organization.
Population Projection 2020. Institute for Population and Social Research, Mahidol University


ในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย  มีการรายงานข้อมูลว่า จำนวนประชากรไทยจะสูงสุดในปี 2569 ที่ 66.4 ล้านคน หลังจากนั้นจะลดลงเรื่อยๆ  สาเหตุเกิดจากประชากรกลุ่มอายุ 30-49 ปี แต่งงานน้อยลง รวมทั้งการพัฒนาด้านการแพทย์ เทคโนโลยี ทำให้อายุไขประชาชนเพิ่มขึ้น  เพศชายอยู่ที่ 75 ปี จากเดิม 70 ปี / ส่วนเพศหญิง 81 ปี จากเดิม 75 ปี




 

อนาคตประชากรไทย

ประชากรไทยในอนาคต
ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ 1
ปราโมทย์ ประสาทกุล 2

บทความนี้จะ ได้กล่าวถึงภาพของประชากรไทยในอนาคตว่าจะมีลักษณะเป็นอย่างไร ลักษณะประชากรไทยในอนาคตได้จากการฉายภาพประชากร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ต่อไปอีก 30 ปี ข้างหน้าจนถึงปี พ.ศ. 2578 ดำเนินการโดยคณะทำงานฉายภาพประชากร ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ทำความเข้าใจกับการฉายภาพประชากรชุดใหม่
การฉายภาพประชากรคือการคาดประมาณประชากรในอนาคต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มีคณะทำงานฉายภาพประชากร ซึ่งทำหน้าที่คาดประมาณประชากรของประเทศไทย พิมพ์เผยแพร่ออกมาเป็นระยะ ๆ ปรับแก้การคาดประมาณนั้นเมื่อมี่ข้อมูลใหม่ รวมทั้งคำนวณหาดัชนีตัวชี้วัดที่แสดงสถานการณ์ด้านประชากรเป็นประจำปี
การฉายภาพประชากรชุดใหม่นี้ คณะทำงานฉายภาพประชากรฯ ได้เริ่มต้นจาก “ประชากรฐาน” คือ ประชากรปี พ.ศ. 2548 ซึ่งปรับจำนวนรวมตามข้อมูลจากทะเบียนราษฎรล่าสุด และปรับโครงสร้างอายุตามผลการสำรวจการเปลี่ยนแปลงของประชากรรอบแรกในปี พ.ศ. 2548 จากนั้นได้ใช้ “วิธีคาดประมาณประชากรตามโคฮอท (รุ่นอายุ) ที่เปลี่ยนไปตามองค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงประชากร” (Cohort – component method) หลักการของวิธีนี้ คือ จำนวนประชากรแต่ละรุ่นอายุจะเปลี่ยนไปแต่ละปีตามองค์ประกอบของการเปลี่ยน แปลงประชากร 3 ด้าน อันได้แก่ การเกิด การตาย และการย้ายถิ่น เมื่อเวลาผ่านไปในแต่ละปี ประชากรแต่ละรุ่นอายุจะลดลงไปเพราะมีการตาย และเพิ่มขึ้นเพราะมีการเกิด นอกจากนั้นหากมีการย้ายเข้า ประชากรจะเพิ่มขึ้น และหากมีการย้ายออก ประชากรก็จะลดลง ดังนั้น การฉายภาพประชากรจึงอาศัยการตั้งข้อสมมุติว่าต่อไปในอนาคตนั้น การเกิด การตาย และการย้ายถิ่นแต่ละปีควรเป็นเท่าไร
ในการฉายภาพประชากร คณะทำงานฉายภาพประชากรฯ ได้ตั้งข้อสมมุติว่าในอนาคต การเกิดหรือภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีไทยจะยังคงลดลงไปอีก โดยที่จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีคนหนึ่งจะมีตลอดวัยเจริญพันธุ์ของตนจะลดจาก 1.65 คนในปี พ.ศ. 2548 เป็น 1.45 คน ในปี พ.ศ. 2568 และกลุ่มสตรีที่ให้กำเนิดบุตรสูงสุด (อัตราเกิดรายอายุ) ค่อย ๆ เปลี่ยนจากกลุ่มอายุ 20 – 24 ปีในปี พ.ศ. 2548 เป็นกลุ่มอายุ 25 – 29 ปี ในปี พ.ศ. 2568 และเมื่อหลังจากปี พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป ได้ตั้งข้อสมมุติว่าภาวะเจริญพันธุ์ทั้งจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีคนหนึ่งจะ มีตลอดวัยเจริญพันธุ์และอัตราเกิดรายอายุคงที่
ในเรื่องการตาย คณะทำงานฉายภาพประชากรฯ ได้ตั้งข้อสมมุติว่าความยืนยาวชีวิตของประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นไปอีก เริ่มจากในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นปีฐาน อายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของผู้ชายเท่ากับ 68 ปี และของผู้หญิงเท่ากับ 75 ปี ได้มีข้อสมมุติว่าอายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นเป็แนวโน้มเส้นตรง ในระยะยาวอีก 50 ปีข้างหน้าอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของผู้ชายจะเพิ่มเป็น 75 ปี ส่วนผู้หญิงจะเพิ่มเป็น 80 ปี
สำหรับองค์ประกอบสุดท้ายคือการย้ายถิ่นนั้น คณะทำงานฉายภาพประชากรฯ ได้สมมุติให้การย้ายถิ่นระหว่างประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมายของประชากรไทยมี น้อยมากจนไม่ส่งผลกระทบต่อจำนวนและโครงสร้างประชากรมากนัก หมายความว่าการฉายภาพประชากรชุดนี้มิได้รวมการย้ายถิ่นของแรงงานที่เข้าหรือ ออกจากประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

การเพิ่มขึ้นของประชากรไทยช้าลงแต่ผู้สูงอายุกลับเพิ่มเร็วขึ้น
เมื่อกลางปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นปีฐานของการฉายภาพ ประเทศไทยมีประชากร 62.2 ล้านคน หนึ่งปีถัดไปประมาณได้ว่าประชากรไทย ณ กลางปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 62.5 ล้านคน เท่ากับว่าหนึ่งปีมีคนเพิ่มขึ้น 3 แสนคนเศษ คิดเป็นอัตราเพิ่มประชากรร้อยละ 0.6 ต่อปี การเพิ่มของประชากรไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต แต่เป็นการเพิ่มที่ช้าลง แต่ละปีอัตราเพิ่มประชากรค่อย ๆ ลดลง ๆ ในปี พ.ศ. 2565 ดูเหมือนว่าจะเป็นปีที่ประชากรไทยถึงจุดอิ่มตัว อัตราเกิดจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราตาย ทำให้อัตราการเพิ่มของประชากรใกล้เคียงกับศูนย์ จำนวนเกิดในแต่ละปีพอ ๆ กับจำนวนตาย จากการฉายภาพประชากรชุดนี้แสดงว่าประชากรไทยจะถึงจุดอิ่มตัวที่จำนวนประมาณ 65 ล้านคนในราวปี พ.ศ. 2565 หลังจากนั้น เป็นไปได้ว่าอัตราเพิ่มประชากรจะติดลบคือต่ำกว่าศูนย์บ้างเล็กน้อย ทำให้จำนวนประชากรแต่ละปีลดลง



รูป 1 อัตราเพิ่มและจำนวนประชากร, พ.ศ. 2548 – 2578

การที่ ประชากรไทยในอนาคตเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จนอิ่มตัวแล้วลดลงนั้น เป็นผลเนื่องมาจากภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลงและคนไทยมีชีวิตยืนยาวขึ้นอีก ลักษณะเช่นนี้ทำให้โครงสร้างอายุของประชากรเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน หากดูที่จำนวนประชากร เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2578 จะมีจำนวนลดลงจาก 14 ล้าน (ร้อยละ 23 ของประชากรทั้งหมด) เหลือ 9 ล้านคนเศษ (ร้อยละ 14) ส่วนประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15 – 59 ปี) นั้นมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย กล่าวคือในช่วง พ.ศ. 2548 – 2558 จำนวนจะเพิ่มขึ้นจาก 41 ล้าน เป็น 43 ล้านคน หลังจากนั้นจะลดจำนวนลงเหลือ 38 ล้านคนในปี พ.ศ. 2578 อาจกล่าวได้ว่าจำนวนประชากรวัยแรงงานในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้าเกือบไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม การที่จำนวนประชากรวัยเด็กจะลดลงอย่างมากจะมีผลทำให้จำนวนประชากรในวัยเรียน (อายุ 6 – 21 ปี) ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 16 ล้านคนในปี พ.ศ. 2548 เป็น 11 ล้านคนในปี พ.ศ. 2578

สำหรับประชากรกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) คนกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ ในปี พ.ศ. 2548 มีประชากรสูงอายุอยู่ 6 ล้านคนเศษ (ร้อยละ 10) เมื่อถึงปี พ.ศ. 2578 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านคน (ร้อยละ 25) เท่ากับเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวในเวลาราว ๆ 30 ปีเท่านั้น


รูป 2 จำนวนประชากรวัยต่าง ๆ พ.ศ. 2548 – 2578

รูปแบบการพึ่งพิงเปลี่ยนไป
โครงสร้างประชากรสะท้อนให้เห็นลักษณะการพึ่งพิงกันระหว่างประชากรกลุ่มอายุต่าง ๆ เมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป ลักษณะการพึ่งพิงกันก็เปลี่ยนไปด้วย การแสดงระดับของการพึ่งพิงระหว่างประชากรกลุ่มอายุต่าง ๆ นิยมใช้ดัชนีที่เรียกว่า “อัตราส่วนพึ่งพิง” (Dependency ratio) เป็นตัวชี้วัด
“อัตราส่วนพึ่งพิง” คืออัตราส่วนระหว่างประชากรเด็กและประชากรสูงอายุต่อประชากรวัยทำงาน ในการคำนวณอัตราส่วนนี้ ประชากรวัยเด็กคือประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปี ประชากรสูงอายุคือประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป และประชากรวัยทำงานคืออายุระหว่าง 15 ถึง 59 ปี ดัชนีนี้มีข้อสมมุติว่าประชากรวัยเด็กและวัยสูงอายุต้องพึ่งพิง (ทางเศรษฐกิจ) ประชากรวัยทำงาน
อัตราส่วนพึ่งพิงตามความหมายข้างต้นนั้นเป็น “อัตราส่วนพึ่งพิงรวม” (Total dependency ratio) คือรวมผู้พึ่งพิงทั้งที่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ อัตราส่วนพึ่งพิงยังสามารถจำแนกตามประเภทของผู้ที่ต้องพึ่งพิงเป็น 2 ประเภท คือ อัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็ก (Youth dependency ratio) และอัตราส่วนพึ่งพิงวัยชรา (Old-age dependency ratio) อัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็กเป็นจำนวนเด็กต่อผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน 100 คน ส่วนอัตราส่วนพึ่งพิงวัยชรานั้น เป็นจำนวนผู้สูงอายุต่อผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน 100 คนเช่นกัน ค่าของอัตราส่วนพึ่งพิงทั้งหลายเหล่านี้ยิ่งสูงย่อมแสดงถึงมีจำนวนผู้ที่ ต้องพึ่งพิงมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ทำงานนั่นเอง
ในอดีต ประเทศไทยเคยประสบกับสถานการณ์ที่มีเด็กจำนวนมากเมื่อเทียบกับประชากรวัยทำงาน เช่น จากสำมะโนประชากรปีต่าง ๆ พบว่า ค่าอัตราส่วนพึ่งพิงรวมเท่ากับ 85 หมายความว่า มีผู้ต้องพึ่งพิง (เด็กและผู้สูงอายุ) 85 คนต่อผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน (วัยแรงงาน) 100 คน จากนั้นค่าอัตราส่วนพึ่งพิงได้เพิ่มเป็น 93 ต่อ 100 ในปี พ.ศ. 2513 อัตราส่วนพึ่งพิงรวมที่สูงเนื่องจากคนไทยในช่วงเวลานั้นยังมีลูกมากทำให้มีประชากรวัยเด็กมาก ต่อมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการลดอัตราเกิด ทำให้มีเด็กเกิดน้อยลง ส่งผลให้ค่าอัตราส่วนพึ่งพิงที่เคยสูงเกือบ 100 นั้นลดต่ำลง ดังเช่น ในปี พ.ศ. 2543 ค่าอัตราส่วนพึ่งพิงรวมได้ลดลงเหลือ 51 และจะลดลงไปอีกจนเหลือ 48 ในปี พ.ศ. 2553 หลังจากนั้นคาดว่าอัตราส่วนพึ่งพิงรวมจะกลับสูงขึ้นอีกจนถึง 65 ในปี พ.ศ. 2578
การที่ค่าอัตราส่วนพึ่งพิงกลับเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง มาไม่น้อยกว่า 40 ปีเป็นเพราะจำนวนประชากรสูงอายุ ได้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาแยกระหว่างอัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็กและวัยชราแล้ว ก็จะพบว่าอัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็กได้ลดลงอย่างมากและต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จนถึง พ.ศ. 2578 ในขณะที่อัตราส่วนพึ่งพิงวัยชราได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา เดียวกันนั้น จึงอาจสรุปได้ว่าแนวโน้มรูปแบบการพึ่งพิงจะเปลี่ยนจากการพึ่งพิงของเด็กเป็น ส่วนใหญ่ มาสู่การพึ่งพิงของผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ (ตาราง 2)

สังคมไทยกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่มีผลต่อสังคมไทยอย่างมากนั่นคือ การมีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากจำนวนเด็กที่ลดลงในขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกประมาณ 15 ปีข้างหน้า จำนวนเด็กจะพอ ๆ กับผู้สูงอายุ และหลังจากนั้นจะเกิดปรากฏการณ์มีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก
เราอาจใช้ “ดัชนีผู้สูงอายุ” (Ageing index) เพื่อเปรียบเทียบระหว่างจำนวนเด็กกับผู้สูงอายุ ดัชนีผู้สูงอายุ เป็นอัตราส่วนของจำนวนประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ต่อจำนวนประชากรวัยเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) 100 คน ตามความหมายนี้ ดัชนีผู้สูงอายุแสดงให้เห็นว่ามีผู้สูงอายุกี่คนต่อเด็ก 100 คน ถ้าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่ามีเด็กมากกว่าผู้สูงอายุ และในทางกลับกัน ถ้าดัชนีมีค่าสูงกว่า 100 ก็แสดงว่ามีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก

ตาราง 1 ดัชนีผู้สูงอายุของประเทศไทย พ.ศ. 2548 – 2578



ตาราง 1 แสดงแนวโน้มของดัชนีผู้สูงอายุ หรืออัตราส่วนผู้สูงอายุต่อเด็ก 100 คน “ดัชนีผู้สูงอายุ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ความจริงแนวโน้มเช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดเร็ว ๆ นี้ หากแต่เกิดมานานแล้ว เช่น ในปี พ.ศ. 2503 และ 2513 มีผู้สูงอายุเพียง 11 คนต่อเด็ก 100 คน เมื่อถึงปี พ.ศ. 2548 จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ดัชนีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 45 อีก 5 ปีถัดไป ผู้สูงอายุมีจำนวนเกินกว่าครึ่งของจำนวนเด็กแล้ว ดัชนีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่สูงมากในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2553 และ 2553 – 2558 นั้น คือประมาณเกือบร้อยละ 6 ต่อปี แต่ในช่วง พ.ศ. 2558 – 2563 ดัชนีผู้สูงอายุยิ่งเพิ่มเร็วมาก คือสูงถึงร้อยละ 7 ต่อปี หลังจากช่วงนี้ไปแล้ว อัตราเพิ่มของดัชนีผู้สูงอายุลดลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 – 5 ต่อปี

ระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2564 เป็นช่วงเวลาที่ดัชนีผู้สูงอายุเท่ากับ 100 หมายความว่าช่วงเวลานี้ประเทศไทยมีประชากรวัยเด็กเท่า ๆ กับผู้สูงอายุ หลังจากปี พ.ศ. 2564 ไปแล้วประเทศไทยจะมีผู้สูง อายุมากกว่าเด็กต่อไปเรื่อย ๆ ปรากฏการณ์ที่มีผู้สูงอายุมากกว่าเด็กเช่นนี้จะไม่สามารถย้อนกลับได้อีกเลย ดังเช่นเหตุการณ์ที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายประสบมาก่อนหน้าประเทศไทย

ตาราง 2 อัตราส่วนพึ่งพิงรวม อัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็ก และอัตราส่วนพึ่งพิงวัยชรา พ.ศ. 2503 – 2578




หมายเหตุ: อัตราส่วนพึ่งพิงของปี พ.ศ. 2503 – 2543 คำนวณจากสำมะโนประชากร และของปี พ.ศ. 2548 – 2578 คำนวณจากการฉายภาพประชากร

ดัชนีอีกตัวหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นถึงอัตราส่วนของ จำนวนคนในวัยแรงงาน (อายุ 15 – 59 ปี) ต่อผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 1 คน ได้แก่ “อัตราส่วนเกื้อหนุนผู้สูงอายุ” (Potential support ratio: PSR) แนวความคิดของอัตราส่วนนี้คือ คนในวัยทำงานเป็นผู้ที่มีศักยภาพที่จะดูแลเกื้อหนุนผู้สูงอายุ จึงมีความหมายว่าผู้สูงอายุคนหนึ่งจะมีผู้ที่สามารถช่วยเหลือดูแลสักกี่คน
เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ในปี พ.ศ. 2503 อัตราส่วนเกื้อหนุนผู้สูงอายุสูงมาก มีคนวัยทำงานถึง 12 คนที่ช่วยกันดูแลผู้สูงอายุเพียง 1 คน อัตราส่วนนี้ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง และในอีก 30 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุไทยแต่ละคนจะมีคนวัยทำงานที่อาจจะช่วยในการดูแลค้ำจุนเพียง 2 คนเท่านั้น


รูป 3 อัตราส่วนค้ำจุนผู้สูงอายุของประเทศไทย พ.ศ. 2503 – 2578

สรุป
ประชากรไทยในอนาคตเพิ่มช้าลงไปเรื่อย ๆ อีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า อัตราเพิ่มของประชากรไทยจะใกล้เคียงกับศูนย์ และอาจเป็นไปได้ว่าอัตราเพิ่มประชากรลดลงไปจนต่ำกว่าศูนย์หรือติดลบ จำนวนประชากรไทยใกล้จะถึงจุดคงตัวแล้ว เมื่ออัตราเพิ่มประชากรใกล้เคียงกับศูนย์ ประชากรก็จะมีจำนวนคงตัวที่ประมาณ 65 ล้านคน ในแต่ละปี ประชากรไทยจะไม่เพิ่มหรือลดไปจากจำนวนนี้มากนัก ประชากรไทยมีจำนวนคงตัวในระยะเวลาอีกเพียงประมาณ 15 ปีเท่านั้น
ในขณะที่จำนวนประชากรไทยกำลังเพิ่มช้าลงนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากรอย่างใหญ่หลวง เมื่ออัตราเกิดลดต่ำลงอย่างมากและผู้คนมีอายุยืนยาวนั้น สังคมไทยจึงกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2548 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด แต่ในอีก 30 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด หรือมีจำนวนมากถึง 16 ล้านคน เมื่อถึงเวลานั้น ประชากรสูงอายุจะมีจำนวนมากกว่าประชากรวัยเด็กเสียอีก
สัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้ลักษณะการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจระหว่างประชากรวัยต่าง ๆ เปลี่ยนไป เดิมมีประชากรวัยเด็ที่ต้องพึ่งพิงประชากรวัยแรงงานมากกว่าผู้สูงอายุ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงประชากรวัยแรงงานมากกว่าเด็ก อัตราส่วนระหว่างประชากรวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุจะลดลงจนเหลือเพียง 2 ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในอีก 30 ปีข้างหน้า
การเปลี่ยนแปลงประชากรไทยในอนาคตได้ก่อให้เกิดนัยยะเชิงนโยบายหลายประการ
(1) การที่เด็กเกิดใหม่แต่ละปีมีแนวโน้มลดน้อยลงในอนาคตจะทำให้รัฐไม่ต้องกังวล เรื่องปริมาณและสามารถมุ่งเน้นที่คุณภาพของเด็กเกิดใหม่ โดยเฉพาะงานอนามัยแม่และเด็กได้มากยิ่งขึ้น
(2) เช่นเดียวกับประชากรเด็ก ประชากรในวัยศึกษาเล่าเรียนมีแนวโน้มลดลง รัฐจะสามารถเน้นคุณภาพของการศึกษาได้ดีขึ้น
(3) แม้จำนวนประชากรวัยแรงงานมีแนวโน้มที่จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในอนาคต แต่ความต้องการแรงงานในระบบเศรษฐกิจของประเทศอาจมีเพิ่มขึ้น “การนำเข้า”แรง งานจากต่างประเทศอาจเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นการจัดการแรงงานข้ามชาติให้เป็นระบบที่ดีจึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับ ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง
(4) ประชากรยิ่งมีอายุมากยิ่งเพิ่มเร็ว สังคมไทยกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ มาตรการและโครงการที่จะเป็นสวัสดิการให้ประชากรสูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไป หรือเรื่องสุขภาพอนามัย ควรที่จะได้เริ่มกันตั้งแต่วันนี้ และจะต้องพัฒนาไปให้ทันกับการเพิ่มอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุในอนาคต


เอกสารอ้างอิง

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม. 2549. การฉายภาพประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2548 – 2568, มหาวิทยาลัยมหิดล.

1 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
2 ศาสตราจารย์ ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล