สังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์
ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในทุกมิติทั้งทางสังคม
เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองโลก
มีผลทำให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และมีความเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น
โลกที่เคยกว้างใหญ่กลับเล็กลงดินแดนแต่ละประเทศที่อยู่ห่างไกลกันสามารถติดต่อกันได้ภายในเวลาเสี้ยววินาทีประดุจเป็นหมู่บ้าน
(Global Village) ภูเขาและทะเลซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติที่เคยเป็นอุปสรรคในการติดต่อไปมาหาสู่ดูเสมือนเลือนหายไปจนกลายเป็นโลกไร้พรมแดน
นับจากนี้ต่อไปโลกกำลังก้าวเข้าสู่ระยะแห่งการเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์โลกในยุคโลกาภิวัตน์
1. ความหมายของโลกาภิวัตน์
โลกาภิวัตน์มีความหมายถึง
การแพร่กระจายเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลกของข้อมูลข่าวสา ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ส่วนใด
สามารถรับรู้และรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว อันสืบเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศ
การสื่อสารคมนาคมที่รวดเร็ว
สังคมยุคโลกาภิวัตน์ จึงเป็นสังคมยุคข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดน
อันเป็นยุคที่พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและการคมนาคม
เชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ทำให้โลกกลายเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ กระแสโลกทั้งในรูปของทุน
ข้อมูลข่าวสาร ค่านิยมและวัฒนธรรมบางอย่างได้แผ่กระจายครอบคลุมไปทั่วโลก อันนำไปสู่การวิวัฒน์ของระบบโลก
ดังนั้น สังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์
จึงเป็นโลกที่มนุษย์สามารถข้ามพรมแดนของประเทศสามารถเชื่อมโยงและทะลุกาลเวลาได้อย่างรวดเร็ว
โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารในลักษณะที่ไร้พรมแดน
2. ความเป็นมาของโลกาภิวัตน์
การเกิดขึ้นของโลกาภิวัตน์และโลกที่ไร้พรมแดน เกิดขึ้นมานานนับศตวรรษ
การเข้าใจพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของระบบโลกที่ผ่านมา ต้องทำความเข้าใจทฤษฎีคลื่นแห่งศตวรรษ
ระบบโลกแต่ละช่วงจะมีปรากฏการณ์ของลูกคลื่นขึ้นและลง ขยายตัวและหดตัว ระยะการแปรเปลี่ยนไปของคลื่นแต่ละลูกใช้เวลาประมาณ 50 ปี อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนในระบบโลก ก่อให้เกิดการรื้อทิ้งระบบและระเบียบเก่า
สร้างระบบและระเบียบโลกใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างรุนแรง
และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจใหม่ขึ้นในโลก ซึ่งนับตั้งแต่เกิดระบบโลก อัลวิน
ทอฟฟเลอร์ นักวิชาการชาวอเมริกันเสนอทิศทางการเปลี่ยนแปลงโดยคลื่นลูกใหญ่ 3
ครั้ง
2.1 คลื่นลูกที่หนึ่ง เกิดจากการปฏิวัติเกษตรกรรม เมื่อมนุษย์รู้จักวิธีการเพาะปลูกและ
เลี้ยงสัตว์ตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นชุมชนหมู่บ้านไม่เร่ร่อนแบบเดิม
ต่อมาได้เกิดการปฏิวัติทางเทคโนโลยีทางเรือและอาวุธสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปืนและปืนใหญ่
การปฏิวัติที่เป็นผลเนื่องจากสงครามทางการค้าและการขยายตัวของเศรษฐกิจ สินค้าและบริการ
ที่เริ่มขยายตัวขึ้นในยุโรปตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 13 เมื่อถึงศตวรรษที่
15-16 เป็นช่วงของการขยายตัวของคลื่นลูกที่หนึ่ง ติดตามด้วยการค้นพบโลกใหม่
การล่าเมืองขึ้น การขยายตัวของระบบตลาดโลกได้เริ่มก่อตัวขึ้น และในที่สุดคลื่นลูกนี้ก็ก้าวเข้าสู่ระยะวิกฤตในศตวรรษที่
17 คลื่นลูกที่หนึ่งได้ก่อให้เกิดเครือข่ายอำนาจครอบโลก ศูนย์กลางของระบบคือยุโรป
โดยมี สเปน ฮอลันดาและโปรตุเกส เป็นศูนย์กลาง ระบบความสัมพันธ์ครอบโลกที่เกิดจากการที่ยุโรปเริ่มขยายอาณานิคมเข้าไปครอบงำทวีปอเมริกาและแอฟริกา
ยึดครองประเทศเหล่านี้ด้วยกำลังและใช้กำลังบังคับกวาดต้อนผู้คน ในประเทศอาณานิคมมาใช้แรงงานอย่างทาส
2.2 คลื่นลูกที่สอง เริ่มด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากวิกฤตใน
ศตวรรษที่ 17 เกิดขึ้นพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมทอผ้า เครื่องจักรไอน้ำขยายตัวในช่วงกลางศตวรรษที่
18 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตที่ใช้เครื่องจักร เครื่องผ่อนแรง
แทนการผลิตด้วยแรงงานคนและสัตว์ ซึ่งในที่สุดก็เกิดวิกฤตจุดรุนแรงที่สุดก็คือสงครามโลกครั้งที่
1 และครั้งที่ 2 คลื่นลูกที่สองได้นำไปสู่การก่อเกิดขึ้นของระบบความสัมพันธ์ครอบโลกแบบอาณานิคมและทุนนิยม
โลกทั้งโลกได้ถูกผนึกเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน มีระบบการแบ่งงานกันทำในขอบเขตทั่วโลก โดยมีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นศูนย์ของระบบอาณานิคมโลก
2.3 คลื่นลูกที่สาม เป็นสังคมแห่งเทคโนโลยีระดับสูง
เป็นคลื่นลูกใหม่แทนคลื่นลูกเก่า
ซึ่งกำลังมีอิทธิพลต่อสังคมมนุษย์ยุคปัจจุบัน
เริ่มด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมเหล็กกล้า รถยนต์รวมทั้งเครื่องบิน ซึ่งขยายตัวเต็มที่ในช่วงปี
ค.ศ. 1950-1970 และนับจากนั้นเศรษฐกิจโลกได้เริ่มเข้าสู่
วิกฤตน้ำมัน วิกฤตค่าเงินดอลลาร์ และวิกฤตระบบสังคมนิยม ตามมาด้วยการปฏิวัติระบบอิเล็กทรอนิคส์
คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ คลื่นลูกที่สามได้วางอยู่บนระเบียบเครือข่ายครอบโลกแบบพึ่งพา
หลังจากการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นได้รับอิสรภาพทางการเมือง แต่ยังคงตกอยู่ในฐานะที่ต้องพึ่งพาและขึ้นต่อประเทศศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
ในยุคนี้ระบบโลกได้แบ่งตัวเองออกเป็น 2 ค่าย คือ ค่ายทุนนิยม
และค่ายสังคมนิยม และรอยต่อแห่งการเปลี่ยนแปลงมาพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่
3 นั่นคือคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ ซึ่งได้ก่อให้เกิดระบบความสัมพันธ์ใหม่ที่เรียกว่า
ยุคเครือข่ายครอบโลกแบบไร้พรมแดน
3. ลักษณะสำคัญของสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์
สังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ มีลักษณะสำคัญหลายประการ สรุปได้ดังนี้
3.1 การใช้คอมพิวเตอร์เป็นกลไกสำคัญ ในสังคมโลกาภิวัตน์ คอมพิวเตอร์มีบทบาท สำคัญมากเพราะเป็นเครื่องมือที่จะรับและแปลงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและไม่ค่อยมีข้อจำกัด
คอมพิวเตอร์ได้ถูกนำมาใช้ในการจัดเก็บ บันทึกข้อมูล จัดระบบข้อมูลและนำมาใช้สื่อสารถึงกันในเวลาอันรวดเร็วทุกมุมโลก
ในระยะไม่กี่ปีมานี้ได้มีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ไปอย่างมาก จากเครื่องที่มีขนาดใหญ่ราคาแพง
เป็นระบบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีขนาดเล็กแต่มีคุณภาพ และศักยภาพสูงมากและราคาถูกลง
เครื่องคอมพิวเตอร์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการแพร่ข้อมูลข่าวสารในยุคโลกาภิวัตน์
3.2 การไหลบ่าของข้อมูลข่าวสาร วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจและสังคม
เจริญก้าวหน้า เศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้าทำให้โลกตะวันตกมั่งคั่งร่ำรวย ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดเป็นแรงกระตุ้นให้มีการวิจัยและพัฒนา
เพื่อศึกษาค้นคว้าหาข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างไม่หยุดยั้ง สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ก็ทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่
ๆ เพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีสื่อสารอันทันสมัยก็มีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยน ถ่ายทอดข้อมูลใหม่
ๆ หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การไหลบ่าของข่าวสาร
3.3 การเพิ่มขึ้นของแรงงานด้านข่าวสาร จำนวนแรงงานที่ทำงานเกี่ยวกับข่าวสารข้อมูล
มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แรงงานเหล่านี้ได้แก่ผู้ที่อยู่ในวงการศึกษา
การคมนาคม การพิมพ์ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ สื่อสารมวลชนทุกประเภท การเงิน การบัญชี
รวมทั้งอุตสาหกรรมผลิตคอมพิวเตอร์ หรือชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และงานที่เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาจัดการกับข่าวสาร
ทุกชนิดกล่าวกันว่า ปัจจุบันในอเมริกามีแรงงานที่ทำงานด้านข่าวสารมากกว่า ร้อยละ 50 ในขณะที่แรงงานเกษตรและอุตสาหกรรมลดลงมากกว่าร้อยละ 25
3.4 บทบาทและความสำคัญของสถาบันวิจัยและพัฒนา เนื่องจากสังคมเจริญรวดเร็วมากและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
การแสวงหาความรู้ และค้นหาคำตอบรวมทั้งการคาดหมายล่วงหน้าจึงมีความสำคัญยิ่ง การวิจัยและพัฒนากลายเป็นกลไกสำคัญในการแสวงหาข้อมูล
ข่าวสาร หรือความรู้ใหม่เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผน และตัดสินใจของนักธุรกิจและนักบริหารทั้งหลาย
ประเทศที่เจริญทั้งหลายจึงมักให้ความสำคัญแก่การวิจัยและพัฒนา และมีการสนับสนุนหรือให้ทุนแก่สถาบันวิจัยและพัฒนา
3.5 ระบบเศรษฐกิจประสานเป็นหนึ่งเดียว เศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์
เป็นเศรษฐกิจที่จะมีการประสานเศรษฐกิจเป็นหนึ่งเดียว ทำให้พรมแดนแต่ละประเทศไม่อาจขวางกั้นพลังทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจยังได้เปลี่ยนรากฐานจากระบบอุตสาหกรรม มาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบฐานข่าวสาร
(Information based economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการผลิต
จัดการและเผยแพร่ข่าวสาร ข่าวสารกลายเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ตัวอย่าง ธุรกิจชนิดนี้
เช่น การผลิตคอมพิวเตอร์ เครื่องโทรคมนาคม วิทยุ โทรทัศน์ การพิมพ์ โทรศัพท์ หนังสือ
วารสาร เป็นต้น ข่าวสารกลายเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ผู้ต้องการใช้ข่าวสารต้องเสียค่าใช้จ่าย
ข่าวสารกลายเป็นแหล่งลงทุน และเป็นบ่อเกิดของการว่าจ้างแรงงาน
3.6 ชุมชนมนุษย์มีความใกล้ชิดกัน เทคโนโลยีข่าวสารทำให้มนุษย์ซึ่งอยู่ห่างไกลกัน
เป็นพัน ๆ ไมล์ หรืออยู่กันคนละมุมโลก
สามารถติดต่อสื่อสารพูดคุยกันได้ มนุษย์ในยุคนี้สามารถรับรู้ข่าวสาร เหตุการณ์ทุกชนิดที่เกิดขึ้นในดินแดนห่างไกลออกไป
ทำให้มีโลกทัศน์กว้างขึ้นและมีผลต่อแนวคิดเกี่ยวกับชุมชน หมู่บ้าน ประเทศที่เปลี่ยนไปเป็นโลก
มนุษย์ทุกคนย่อมตระหนักดีว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งของโลกอาจมีผลกระทบต่อโลกทั้งโลกหรือมนุษย์ทั้งโลกได้
มนุษย์ในยุคนี้จะเกิดความรู้สึกในฐานะประชากรของโลกขึ้นมาแทนที่ความรู้สึกเกี่ยวกับรัฐ
หรือชาติของตนเหมือนแต่เดิม อย่างไรก็ตามแม้กระแสของข่าวสารจะมีมากเพียงใด โอกาสในการรับรู้ข่าวสารก็อาจไม่เท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะความเป็นอยู่ของมนุษย์ด้วย
3.7 พฤติกรรมของนักการเมืองเกิดความเปลี่ยนแปลง ในยุคโลกาภิวัตน์
เทคโนโลยี สื่อสารเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับระบบการเมืองมากขึ้น ประชาชนมีโอกาสติดตามความเคลื่อนไหวของนักการเมือง
และผู้แทนที่เลือกเข้าไปทำหน้าที่แทนตนในสภาโดยผ่านสื่อมวลชน นักการเมืองหรือฝ่ายบริหารก็ใช้เทคโนโลยีสื่อสาร
เผยแพร่งานหรือกิจกรรมต่าง ๆ แก่ประชาชน สื่อมวลชนก็อาจจะมีบทบาทในการท้วงติง วิพากษ์วิจารณ์ผลงานของรัฐบาลในสิ่งที่เห็นว่าไม่เหมาะสม
จึงกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีสื่อสาร มีส่วนทำให้โฉมหน้าของการเมืองเปลี่ยนแปลงไปด้วย
4. ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อสังคมโลก
ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อสังคมโลกในปัจจุบัน
เกิดขึ้นในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ดังนี้
4.1 ผลกระทบด้านสังคม
4.1.1 การครอบโลกทางวัฒนธรรม เนื่องจากระบบสื่อสารไร้พรมแดนทำให้เกิดการ
ครอบโลกทางวัฒนธรรม อิทธิพลของวัฒนธรรมและอำนาจของเศรษฐกิจจากประเทศที่พัฒนาแล้ว
ได้ไหลบ่าเข้าสู่ประเทศอื่นอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดกระแสวัฒนธรรมโลก
(Neo-Westernization) ครอบงำทางด้านความคิด การมองโลก การแต่งกาย การบริโภคนิยมแพร่หลายเข้าครอบคลุมเหนือวัฒนธรรมชาติของประชาคมทั่วโลก
ผลที่ตามมาคือ เกิดระบบผูกขาดไร้พรมแดน
4.1.2
หมู่บ้านโลก (Global Village) จากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร
และโทรคมนาคม ทำให้สังคมโลกไร้พรมแดน โลกทั้งโลกเป็นเสมือนหมู่บ้านเดียวกัน สมาชิกของหมู่บ้านคนใดทำอะไร
ก็สามารถรับรู้ได้ทั่วกันทั่วโลก เมื่อมาอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน สิ่งใดที่มากระทบประเทศหนึ่ง
ก็ย่อมกระทบไปถึงประเทศอื่น ๆ ไปด้วย อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในส่วนใดส่วนหนึ่งของโลก
สามารถรับรู้ได้อย่างฉับพลัน
4.1.3
การแสวงหากำไรแบบใหม่ การสื่อสารที่รวดเร็วทำให้เกิดสภาวการณ์ไรพรมแดน
ของเงินตรา ซึ่งสามารถไหลไปกระจุกตัวทุกหนทุกแห่งในโลกได้ ทุกครั้งที่เกิดการไหลเข้าของทุนมหาศาลจากทั่วโลกไปกระจุกตัวอยู่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง
ก็จะก่อให้เกิดการพองตัวของทุนอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการแสวงหากำไรแบบใหม่ขึ้น
4.1.4
สังคมความรู้ยุคข่าวสารข้อมูล ยุคโลกาภิวัตน์เป็นยุคแห่งข่าวสาร
ข้อมูลเทคโนโลยี เป็นกลไกสำคัญของการครอบครองข่าวสารข้อมูล จึงได้มีการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมาก
เทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ได้แก่
1) การพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีการพัฒนา
ใหม่ทุก 18 เดือน ส่งผลให้คอมพิวเตอร์มีความเร็วสูงราคาถูกลง คอมพิวเตอร์จึงเข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน
เพื่อใช้งานทั้งที่ทำงานและที่บ้าน
2) การพัฒนาเทคโนโลยีคมนาคม เพื่อให้สามารถติดต่อถึงกันได้อย่างง่าย
รวดเร็วไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของโลก
ได้มีการพัฒนาการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ใช้สื่อสารผ่านคลื่นไมโครเวฟ ผ่านดาวเทียมสื่อสาร
เกิดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ติดต่อสื่อสารผ่านอีเมล์ด้วยคอมพิวเตอร์ สามารถส่งข้อความด้วยแฟกซ์
เทคโนโลยีสื่อสารที่ทันสมัย สามารถบริการได้กว้างขวางแต่มีราคาถูกลง โลกถูกเชื่อมด้วยเทคโนโลยีคมนาคม
โลกที่กว้างใหญ่ได้แคบลงเป็นหมู่บ้านโลก
3) การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถถ่ายทอดข่าวสาร
ความรู้ ข้อมูล โดยผ่านอีเมล์ อินเตอร์เนต และเวิร์ล วาย เวป ข่าวสารความรู้ข้อมูล
จึงเข้าถึงประชาชนได้ง่ายดายและเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการพัฒนาภูมิปัญญาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
การกระจายความรู้ การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศจะช่วยให้ประชาชนมีโอกาสรับรู้และเรียนรู้มากขึ้น
สังคมโลกกลายเป็นสังคมความรู้
4.2 ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลกมีผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังนี้
4.2.1
การปฏิรูประบบเศรษฐกิจแบบเสรี มาจากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์
และกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้ระบบทุนนิยมโลกแผ่ขยายออกไปครอบคลุมเกือบทุกส่วนของโลก เกิดการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ
การเพิ่มขึ้นของทุนระหว่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคต่าง ๆ เชื่อมโยงและพึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้น
ประเทศต่าง ๆ พากันปฏิรูปเศรษฐกิจให้เสรีเพื่อเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้น
ประเทศสังคมนิยมที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนและควบคุมที่ส่วนกลาง ได้ปฏิรูปโดยเปิดประเทศให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุน
นำกลไกตลาดมาประยุกต์ใช้ เช่น จีนมีนโยบายสี่ทันสมัย เวียดนามใช้นโยบายปฏิรูป
(Doi Moi) ส่วนประเทศที่ใช้ระบบทุนนิยม ก็มีการปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งในด้านการค้าและการเงินโดยลดข้อจำกัดต่าง
ๆ เพื่อให้เสรียิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการระดมทุนการเคลื่อนย้ายทุน อันส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตและการประกอบการลดลงเพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.2.2
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ เนื่องมาจากการแข่งขันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายประเทศไม่มั่นใจว่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันในระบบการค้าเสรีบางประเทศเริ่มใช้มาตรการปกป้องทางการค้า
หลายประเทศพยายามหาแนวร่วมทางเศรษฐกิจขยายขอบเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคขึ้น
เช่น ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ด้กระชับความร่วมมือจัดตั้งเป็น
ตลาดเดียว ใน ค.ศ. 1999 ส่วนสหรัฐอเมริกา
แคนาดา และเม็กซิโก ได้ร่วมมือทางเศรษฐกิจจัดตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ
(NAFTA) ในขณะที่กลุ่มประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ร่วมมือกันจัดตั้ง
เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)อีกทั้งยังมีการร่วมมือในย่านเอเชียแปซิฟิก
(APEC) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเหล่านี้ อาจนำไปสู่ความตึงเครียดทางการค้าหรือสงครามการค้าได้
ถ้าหากผลประโยชน์ขัดกันจนไม่สามารถประนีประนอมได้ นอกเหนือจากการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาคแล้ว
บางประเทศยังพยายามร่วมมือในระดับเล็ก ระหว่างบนพื้นที่ของประเทศในลักษณะอนุภูมิภาค
เช่น ความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย
(Indonesia Malasia Thailand Growth Triangle : IMTGT) และความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ
(Quadangle Cooperative) ระหว่างไทย ลาว พม่า และจีนตอนใต้ โดยแต่ละประเทศจะอาศัยความได้เปรียบของกันและกัน
เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกกำลังนำไปสู่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจโลก
ซึ่งมี 3 ขั้ว คือ ยุโรป เอเชีย และอเมริกา ระบบเศรษฐกิจโลก
3 เส้าดังกล่าวกำลังก่อตัว ซึ่งจะมีทั้งการแข่งขันและความร่วมมือ ดังจะเห็นได้จากการร่วมมือระหว่างเอเชียและยุโรป
(Asia Europe Meeting :ASEM)
4.2.3
เกิดระบบเสรีด้านการเงินและการค้า เป็นระบบเศรษฐกิจที่สินค้าและเงินตราต่าง
ไหลเวียนไปทั่วโลกได้อย่างเสรี โดยความเป็นสากลของทุนและเงินตรา ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่
2 เป็นต้นมา ทำให้ทุนกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่สามารถเคลื่อนย้ายถ่ายเทไปมาได้อย่างเสรี
การเคลื่อนย้ายของทุนในระดับโลกจากจุดที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ไปยังจุดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ก่อให้เกิดการเก็งกำไรขึ้นทั่วไปในระบบตลาดที่ยังไม่มีเสถียรภาพ ผู้ที่ควบคุมทุนได้จะอยู่ในฐานะได้เปรียบโดยสิ้นเชิง
เมื่อระบบเศรษฐกิจถูกรวมเข้าด้วยกัน ทุนสามารถไหลเวียนไปยังที่ต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้กระจายต้นทุนออกไปสู่ภายนอกได้มากที่สุด
ผลที่ตามมาคือการโอนย้ายภาระต้นทุนจากนักลงทุนระหว่างประเทศไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ ในภาวะเช่นนี้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นกับประเทศที่นำทุนเข้าจากต่างประเทศได้ในระยะเวลาไม่นานนัก
ไม่ว่าสมรรถภาพการบริหารเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ จะเป็นอย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการเคลื่อนย้ายของกองทุนขนาดใหญ่อย่างรวดเร็วทั้งไหลเข้าและไหลออก
4.2.4
ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตสินค้า
โดยการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาควบคุมการผลิตโดยมีลักษณะการใช้งานเฉพาะซึ่งใช้ระยะเวลาการผลิตสั้นกว่าสิ้นเปลืองน้อยกว่าเข้ามาแทนที่
เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์อาจได้รับการผลิตอยู่ในหลายประเทศ แล้วนำมาประกอบเป็นรถยนต์ในประเทศที่ไม่ได้ผลิตชิ้นส่วน
แล้วส่งขายไปทั่วโลก ซึ่งลักษณะการประกอบการอย่างนี้เป็นลักษณะของการเกิดบริษัทข้ามชาติ
เป็นแบบฉบับธุรกิจโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีผลทำให้ธุรกิจ การเงิน หลักทรัพย์ ธนาคาร ประกันภัย
ต้องปรับตัวเพื่อรองรับธุรกิจแบบโลกาภิวัตน์ด้วย การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนระบบการผลิตมาเป็นการผลิตอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
ระบบการเงินก็จะต้องปรับมาบริการแบบเดียวกันด้วย กระแสเงินตราต่าง ๆ และธุรกรรมทางการเงินผ่านเข้าออกธนาคารตลอดเวลาในช่วงเสี้ยววินาที
โดยใช้อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอัตราเร็วนี้คือความสามารถที่จะก้าวล้ำหน้า ทำให้มีผลต่อการกระจายอำนาจและผลกำไรอย่างมากมาย
กระแสการแข่งขันด้านการค้าและการแสวงหาตลาดได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสภาพข้ามชาติอย่างแท้จริง
4.3 ผลกระทบด้านการเมือง กระแสโลกาภิวัตน์จึงส่งผลกระทบต่อสังคมโลก
อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังนี้
4.3.1
ความเป็นท้องถิ่นนิยม (Localism) กระแสโลกาภิวัตน์ สร้างความรู้สึกชาตินิยม ระดับท้องถิ่น เติบโตแทนที่อุดมการณ์ชาตินิยม
รัฐชาติแตกสลายย่อยตามชาติพันธุ์และลักษณะเฉพาะเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่เล็กกว่าชาติ
กลายเป็นกลุ่มลัทธิชาตินิยมใหม่ (Neo-Nationalism) ได้ก่อตัวเป็นรัฐชาติที่
มีรากฐานแห่งความเป็นชาติหรือเผ่าพันธุ์ที่แน่นแฟ้นกลมกลืนกันยิ่งขึ้น ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติเหล่านี้มักเชื่อมโยงกับความสำคัญของท้องถิ่น
เนื่องจากสังคมยุคโลกาภิวัตน์เป็นโลกยุคข่าวสารซึ่งประชาชนในท้องถิ่นรับรู้ข้อมูลอย่างรวดเร็วได้จากสื่อมวลชน
เป็นการปลุกจิตสำนึกของประชาชนในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ให้รู้จักรักษาและหวงแหนทรัพยากรภายในท้องถิ่นของตน
การรับรู้ข้อมูลทำให้ทราบผลดีผลเสียที่รัฐบาลกลางดำเนินการ ยุคโลกาภิวัตน์จึงเป็นยุคแห่งการตรวจสอบ
รัฐบาลกลางที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติจะตักตวงผลประโยชน์จากท้องถิ่น จึงมักถูกต่อต้านอย่างรุนแรง
ถ้าหากเป็นเชื้อชาติเดียวกันรัฐบาลที่ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนในท้องถิ่นก็ย่อมถูกต่อต้านอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน
4.3.2
บทบาทของสถาบันและกลุ่มทางการเมือง สถาบันทางการเมืองที่มีอยู่เดิม ได้แก่ พรรคการเมือง รัฐบาล นิติบัญญัติ
ตุลาการ แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ได้เกิดสถาบันทางการเมืองใหม่เพิ่มขึ้น เป็นกลุ่มผลประโยชน์ต่าง
ๆ กลุ่มเฉพาะกรณีเกิดขึ้นมาก ดังเช่น กลุ่มสิทธิสตรี กลุ่มองค์กรเอกชน กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
กลุ่มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้เป็นเพราะชัยชนะของปัจเจกชน ทำให้แต่ละกลุ่มมีความเป็นอิสระในการเรียกร้องตามความต้องการของตน
มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มอยู่ตลอดเวลา มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปทางการเมืองและสังคมเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางการเมืองและมีผู้นำทางการเมืองที่มองการณ์ไกล
สังคมโลกปัจจุบันนอกจากรัฐชาติเป็นตัวแสดงที่สำคัญแล้ว ยังมีตัวแสดงอื่น ๆ ที่มีบทบาทโดดเด่น
เช่น องค์การระหว่างประเทศ บรรษัทข้ามชาติ องค์กรเอกชน ตัวแสดงเหล่านี้นับว่าจะมีบทบาทมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์การรวมประเทศสมาชิกจากทั่วโลก ที่จะมาร่วมปรึกษาหารือรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น