สภาพปัจจุบันของสังคมโลก
ความนำ
สังคมโลกได้วิวัฒนาการสร้างสรรค์อารยธรรมและพัฒนาการขึ้นมาเป็นลำดับ
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง สถานการณ์ทางการเมืองของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง
สหรัฐอเมริกาและสภาพโซเวียต สองอภิมหาอำนาจมีบทบาทแทนที่อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ผลกระทบจากสงครามทำลายจิตใจของผู้คน
เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต ไร้ที่อยู่อาศัย ความพิการซึ่งเป็นภาระที่รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูบูรณะให้กลับคืนมา
ธุรกิจการค้า โรงงานอุตสาหกรรม เส้นทางคมนาคม ถูกทำลายอย่างย่อยยับ ดินแดนที่เป็นสมรภูมิของสงครามประสบปัญหา
ความอดอยาก ยากจน ขาดแคลนอาหาร สภาพเศรษฐกิจใกล้จะล้มละลาย องค์การสหประชาชาติ จึงมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือมนุษยชาติ
และรักษาสันติภาพของสังคมโลก เนื่องจากโลกได้แบ่งออกเป็นสองค่าย ต่อสู้กันระหว่างการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำกลุ่ม
กับการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำกลุ่ม เกิดการแข่งขันกันสร้างอิทธิพลในดินแดนต่างๆ
อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันทำให้สงครามเย็นอุบัติขึ้น เกิดสงครามในภูมิภาคต่าง
ๆ ขึ้นทั่วโลก ผู้คนต่างหวาดกลัวภัยสงคราม มหาอำนาจแต่ละค่ายต่างแข่งขันกันผลิตอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรง
พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ สร้างขีปนาวุธ เพื่อประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม ดินแดนที่เคยตกเป็นอาณานิคมได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้อง
เอกราช ทั้งแบบสันติวิธีและแบบรุนแรง จับอาวุธขับไล่ชาติตะวันตกเกิดการสู้รบในอินโดจีนอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในเวียดนาม
เป็นสงครามตัวแทนระหว่าง สหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา ภายหลังที่ประเทศอาณานิคมได้รับเอกราช
มักมีปัญหาทางการปกครอง มีผลทำให้ทหารมีบทบาทกุมอำนาจการบริหารไว้ได้ แต่ปัญหาชนกลุ่มน้อยและปัญหาเชื้อชาติก็ยังคงดำรงอยู่เพื่อรอการแก้ไข
เมื่อสหภาพโซเวียตปรับเปลี่ยนนโยบายการปกครองและเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประเทศล่มสลายลง สงครามเย็นจึงยุติลง
สังคมโลกยุคปัจจุบัน มีความก้าวหน้าเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงเป็นการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ
เข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมการเมืองโลก มีผลทำให้ประเทศต่าง
ๆ ในโลกต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โลกที่กว้างใหญ่ดูเล็กลง ดินแดนที่อยู่ห่างไกลสามารถติดต่อถึงกันภายในเสี้ยววินาที
ทุกคนก้าวสู่สังคมใหม่เป็นหนึ่งเดียว องค์การระหว่างประเทศจึงทวีความสำคัญยิ่งขึ้น
ดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ประนีประนอมสร้างความสัมพันธ์ในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เพื่อสันติภาพและความมั่นคงของสังคมโลก สภาพปัจจุบันของสังคมโลกบทนี้ จึงนำเสนอเหตุการณ์สำคัญของโลกที่เกิดขึ้น
สังคมโลกยุคสงครามเย็น (Cold War)
สงครามเย็นเป็นลักษณะของความขัดแย้ง
เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สืบเนื่องมาจากความแตกต่างด้านอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกาผู้นำกลุ่มโลกเสรีกับสหภาพโซเวียตผู้นำกลุ่มโลกคอมมิวนิสต์
เป็นสาเหตุให้โลกแบ่งเป็น 2 ค่าย ต่างฝ่ายต่างพยายามต่อสู้แข่งขันเพื่อขยายอิทธิพล
แสวงหาความได้เปรียบในการสร้างอำนาจให้เหนือกว่าฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุด ด้วยวิธีการต่างๆ
ยกเว้นการทำสงครามเปิดเผย และการใช้อำนาจต่อสู้กันโดยตรง ประเทศเล็ก ๆ ต่างเข้าไปเป็นพันธมิตรของอภิมหาอำนาจแต่ละฝ่ายทำให้การเมืองระหว่างประเทศเกิดความตึงเครียด
1. สาเหตุของสงครามเย็น
1.1 ความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ เมื่อสหภาพโซเวียตนำลัทธิคอมมิวนิสต์มาใช้บริหารประเทศ
ทำให้เกิดความหวาดระแวงในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เพราะคอมมิวนิสต์มีเป้าหมายมุ่งทำลายล้าง
ทุนนิยมของอุดมการณ์ของกลุ่มเสรีประชาธิปไตย
1.2 ความขัดแย้งผลประโยชน์ของชาติ ในด้านความมั่นคงปลอดภัยโดยเฉพาะพรมแดนด้าน
ตะวันตกเป็นจุดอ่อนถูกศัตรูบุกเข้าไว้ง่าย สหภาพโซเวียตจึงดำเนินการสถาปนารูปแบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งมีฐานะเป็นประเทศบริวาร
ส่วนความขัดแย้งในด้านเศรษฐกิจ เนื่องมาจากสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นประเทศเจ้าหนี้ ทุนนิยมที่ร่ำรวยที่สุด หากปล่อยให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ขยายตัว
จะทำให้สหรัฐอเมริกาต้องสูญเสียหนี้สิน แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และเกียรติภูมิของชาติ
1.3 เกิดช่องว่างแห่งอำนาจทางการเมือง เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง
ระหว่างประเทศ โดย อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี หมดอำนาจลง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนจึงเกิดเผชิญหน้ากัน
2. วิธีการที่ใช้ในสงครามเย็น
2.1 การเผยแพร่และการโฆษณาชวนเชื่อ แนวความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองด้วยวิธีปลูกฝัง
ชักจูง ให้เกิดความเชื่อในตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคล โดยใช้คำพูด สิ่งตีพิมพ์ หรือสัญลักษณ์ต่าง
ๆ ดังเช่น ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยใช้สำนักแถลงข่าวสารอเมริกัน สถานีวิทยุเสียงอเมริกันทำหน้าที่กระจายข่าวไปทั่วโลก
โฆษณาการปกป้องสิทธิส่วนบุคคล คุ้มกันสิทธิของชนกลุ่มน้อย ต้องการยกฐานะของบุคคลทั่วโลกให้สูงขึ้น
ส่วนฝ่ายคอมมิวนิสต์โฆษณายกย่องความเสมอภาคของระบอบคอมมิวนิสต์ สนใจ สวัสดิภาพของคนทั่วโลก
เอาใจกลุ่มประเทศเป็นกลาง โน้มน้าวให้หันมาสนับสนุนฝ่ายตน
2.2 การแข่งขันทางการทหาร ทั้งสองฝ่ายต่างแข่งขันกัน เสริมสร้างพัฒนาอาวุธแบบใหม่
และกำลังทหารให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
สะสมอาวุธร้ายแรงไว้ในครอบครองให้มากที่สุด โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาใช้วิธีรวมกลุ่มพันธมิตร
เช่น จัดตั้งองค์การนาโต้(NATO) องค์การสัญญาแอนซัส(ANZUS) ทั้งนี้เพื่อปิดล้อมคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคต่าง ๆ ส่วนสหภาพโซเวียตได้ให้การคุ้มครองอารักขาประเทศที่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ด้วยวิธีการส่งอาวุธและกองกำลังทหารไปประจำในประเทศต่าง
ๆ ยุยงให้ประชาชนก่อการปฏิวัติสร้างสงครามกลางเมือง ซึ่งอ้างว่าเป็นสงครามปลดแอกให้ประชาชน
2.3 การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ แต่ละฝ่ายต่างแข่งขันกันให้ความช่วยเหลือทาง
เศรษฐกิจแก่มิตรประเทศของตน
โดยวิธีบริจาคเงินให้ ให้กู้ยืมเงิน ร่วมลงทุน ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค ให้เงินทุนการศึกษา
แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ให้สิทธิพิเศษทางการค้าโดยหวังว่าจะทำให้ตนได้พรรคพวกมากขึ้น
2.4 นโยบายทางการทูต มหาอำนาจทั้งสองฝ่ายต่างพยายามใช้นโยบายทางการทูตเป็นเครื่อง
มือเพื่อสร้างอิทธิพลเหนือประเทศอื่น มีการจัดประชุมระดับผู้นำ ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ
ดังเช่น การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เพื่อควบคุมปริมาณและราคาน้ำมัน การประชุมตัวแทนนานาชาติ
เพื่อวางแผนสันติภาพ โดยเฉพาะการประชุมในคณะมนตรีความมั่นคงของ องค์การสหประชาชาติ
ทั้งสองฝ่ายจะใช้สิทธิยับยั้ง (VETO) แสดงให้เห็นถึงความมีอำนาจในเวทีการเมืองระดับโลก
2.5 การแข่งขันทางวิทยาการและเทคโนโลยี ซึ่งแต่ละฝ่ายพยายามแสดงออกถึงผลงานความ
สำเร็จก้าวหน้าของตนเช่น การคิดค้นพัฒนาขีปนาวุธ การส่งดาวเทียมไปโคจรนอกโลก การสำรวจดวงจันทร์
ดาวอังคาร สิ่งเหล่านี้ทำขึ้นเพื่อสร้างความศรัทธา ยำเกรงต่อความสามารถ เป็นการสร้างเกียรติภูมิเพิ่มความนิยมให้กับฝ่ายตนทำให้ประเทศเล็กอาจเปลี่ยนสังกัดได้
3. จุดเริ่มต้นของสงครามเย็น
สหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายเริ่มสงครามก่อน โดยการแผ่ขยายอิทธิพลและลัทธิส่งผลให้คอมมิวนิสต์เข้าไป
ในยุโรปตะวันออก โปแลนด์ ฮังการี ยูโกสลาเวีย แอลเบเนีย บัลแกเรีย โรมาเนีย และเชโกสโลวะเกีย
ตกเป็นประเทศบริวาร สหภาพโซเวียตต้องการควบคุมช่องแคบ ดาร์ดะแนลล์
(The Dardanelles) เพื่อเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ดังนั้น
จึงส่งกองทัพเข้าคุกคามตุรกีและกรีซ ซึ่งอยู่ในอารักขาของอังกฤษ อังกฤษได้ขอความช่วยเหลือไปยังสหรัฐอเมริกา
ประธานาธิบดีทรูแมนได้ประกาศหลักการทรูแมน (Truman Doctrine) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ให้ทราบว่าสหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือประเทศเสรีทั้งหลายให้พ้นจากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์
โดยจะให้ความช่วยเหลือทั้งเงินและกำลังทหาร สหภาพโซเวียต ไม่พอใจจึงตอบโต้ โดยเรียกร้องให้ประเทศคอมมิวนิสต์ทั่วโลกร่วมมือกันต่อต้านการขยายอิทธิพลของจักรวรรดินิยมอเมริกาพร้อมทั้งพันธมิตร
สงครามเย็นจึงเริ่มต้นขึ้น
4. ลักษณะความขัดแย้งในสงครามเย็น
นับแต่สงครามเย็นเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.
1947 การต่อสู้ได้ปรากฏออกมาหลายรูปแบบ มีผลทำให้
เกิดความหวาดระแวงต่อกันมากขึ้น
สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตพยายามเข้าไปมีบทบาทในภูมิภาคต่างๆ ของโลกเพื่อขยายอาณาเขตและรักษาอิทธิพลของตน
มีผลทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันในดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก ลักษณะความขัดแย้งมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไปตามสถานการณ์และสภาพแวดล้อม
4.1 การเผชิญหน้าในยุโรปตะวันออก (ค.ศ. 1947-1949) หลังจากสภาพโซเวียตขยายอำนาจ ในตุรกีและกรีซ
ได้เกิดการเผชิญหน้ากันซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศหลักการทรูแมนขัดขวางคอมมิวนิสต์ เพื่อปกป้องไม่ให้ยุโรปตะวันตกต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์
สหรัฐอเมริกาจึงประกาศใช้แผนการมาร์แชล (Marshall Plan) ในเดือนมิถุนายน
ค.ศ. 1947 ให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจทุกประเทศทั้งฝ่ายประชาธิปไตย
และคอมมิวยนิสต์ที่มีปัญหาเศรษฐกิจเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตตอบโต้ โดยจัดตั้งองค์การโคมินฟอร์ม (Cominform) ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก
และขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ให้แพร่หลายไปทั่วโลกและประกาศแผนการโมโลตอฟ
(Molotov Plan) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรป แต่ยูโกสลาเวียเข้ารับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาจึงถูกขับออกจากองค์การโคมินฟอร์ม
สหภาพโซเวียตได้ก่อวิกฤตการณ์โดยปิดล้อมเบอร์ลินในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1948 เพื่อตัดเส้นทางคมนาคมในเขตยึดครองของเสรีประชาธิปไตย
แต่สหรัฐอเมริกาแก้ไขได้โดยจัดส่งเสบียงอาหาร และสัมภาระเข้าช่วยทางอากาศ จากพฤติกรรมของสหภาพโซเวียตที่มุ่งขยายอิทธิพลเข้าไปในยุโรป
ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องจัดตั้งองค์การสนธิสัญญา แอตแลนติกเหนือ (NATO) ขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1949 เพื่อให้ความร่วมมือด้านการทหารแก่สมาชิกในค่ายโลกเสรี สหภาพโซเวียตตอบโต้ด้วยการรวมกลุ่มพันธมิตรฝ่ายตนตั้งองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ
(Warsaw Treaty Organization) และจัดตั้งองค์การโคมีคอน
(Comecon) เพื่อเข้าช่วยเหลือทางเศรษฐกิจตามแผนการโมโลตอฟ สหรัฐอเมริกา
อังกฤษ ฝรั่งเศส ได้ร่วมมือกันสถาปนาเยอรมนีในเขตยึดครองเป็นประเทศสาธารณรัฐเยอรมนี
(เยอรมนีตะวันตก) เพื่อสร้างเยอรมนีให้เข้มแข็งไว้ต่อต้านคอมมิวนิสต์
สหภาพโซเวียตได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี(เยอรมนีตะวันออก
) ในเขตยึดครอง ของตนในเดือนตุลาคม 1949 ในปีเดียวกัน
สงครามเย็นในระยะแรกทั้งสองค่ายต่างป้องปรามซึ่งกันและกันด้วยยุทธวิธีทุกรูปแบบ ทำให้การเมืองระหว่างประเทศทวีความตึงเครียดสูงขึ้น
ใน ค.ศ. 1960 สหภาพโซเวียตได้สร้างกำแพงปิดล้อมเบอร์ลินตะวันตก
เพื่อกัดกั้นชาวเยอรมันตะวันออก ไม่ให้หลบหนีเข้าเขตเบอร์ลินตะวันตก กำแพงเบอร์ลิน
กลายเป็นสัญลักษณ์ของสงครามเย็นในยุโรป
4.2 การขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชีย (ค.ศ. 1949-1955) ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ขยายตัวมายังจีนในระยะที่จีนมีปัญหาการเมืองภายในประเทศอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นสาธารณรัฐ
เกิดปัญหาเศรษฐกิจซุนยัดเซ็นต้องยอมรับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงเกิดขึ้น
เมื่อเหมาเจ๋อตุงขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคในระยะต่อมา ได้เกิดความขัดแย้งกับเจียงไคเช็คเป็นเหตุให้เกิดสงครามกลางเมือง
เหมาเจ๋อตุงใช้ยุทธวิธีการรบแบบใหม่ ให้ชาวนาในชนบทเป็นฐานการต่อสู้กับรัฐบาล จนมีชัยชนะสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1949 เจียงไคเช็คได้อพยพไปอยู่ใต้หวันจัดตั้งรัฐบาลจีนคณะชาติ
สาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มวางแผนปฏิวัติโลกตามอุดมการณ์ลัทธิมาร์กซ์
เลนินสนับสนุน ขบวนการปลดแอกในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้ภูมิภาคเอเชียเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นหลายแห่ง
วิกฤตการณ์ในเกาหลีเกิดขึ้นเมื่อเกาหลีถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยสหรัฐอเมริกาจัดตั้งสาธารณรัฐเกาหลีในเขตยึดครองของตน
ส่วนสหภาพโซเวียตตอบโต้โดยจัดตั้ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยเกาหลี แล้วสนับสนุนให้เกาหลีเหนือบุกเกาหลีใต้
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1950 สหรัฐอเมริกาเข้าช่วยเหลือเกาหลีใต้และขอความช่วยเหลือไปยังสหประชาชาติ
กองทัพสหประชาชาติรุกล้ำพรมแดนจีน ทำให้จีนเข้าช่วยเกาหลีเหนือ ในที่สุดมหาอำนาจทั้งสองสามารถเจรจาหยุดยิง
ใน ค.ศ. 1953 ส่งผลให้เกาหลียังคงแบ่งเป็น
2 ประเทศ จีนกลายเป็นผู้นำในการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์อีกประเทศหนึ่ง
สหรัฐอเมริกาจึงได้นำนโยบายปิดล้อมมาใช้สกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ใน ภูมิภาคแปซิฟิก
โดยการทำสนธิสัญญาแอนซัส (ANZUS)
สงครามเย็นได้ขยายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนและ สหภาพโซเวียตเข้ามามีบทบาทให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่าง
ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอินโดจีนเป็นเขตที่เกิดสงครามเย็นรุนแรงมาก อินโดจีนประกอบด้วย
ลาว กัมพูชา เวียดนาม เป็นเขตอาณานิคมของฝรั่งเศส เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นให้เอกราช อินโดจีน เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ฝรั่งเศสกลับมาปกครองอินโดจีนอีก
ทำให้เวียดนามประกาศ เอกราชจึงเกิดการสู้รบกันขึ้นโดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพโซเวียตช่วยเหลือ
คอมมิวนิสต์จึงได้รับชัยชนะในเวียดนามเหนือ ทำให้สหรัฐอเมริกาหวาดกลัวภัยจากจีนมากได้นำนโยบายปิดล้อมคอมมิวนิสต์มาใช้ในเอเชีย
โดยการจัดรวมกลุ่มพันธมิตรร่วมป้องกัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ค.ศ. 1954 เพื่อสกัดกั้นคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
4.3 การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (ค.ศ. 1955-1973) ความขัดแย้งของสงครามเย็นลดความ
รุนแรงลง เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหภาพโซเวียต
เมื่อครุสชอฟขึ้นมาเป็นผู้นำต่อจาก สตาลินได้ประกาศใช้นโยบายอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับกลุ่มเสรีประชาธิปไตย
โดยยึดหลักความเสมอภาคและแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน เคารพในบูรณภาพและอธิปไตยของชาติอื่น
แต่สหรัฐอเมริกาไม่ไว้วางใจถือโอกาสแสวงหาพันธมิตรในตะวันออกกลาง โดยจัดตั้งสนธิสัญญาเซ็นโต
(CENTO) ต่อต้านการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ เมื่อสหภาพโซเวียตไม่สามารถขยายอิทธิพลในยุโรปได้จึงต้องขยายไปยังทวีปอเมริกา
ทำให้ฟิเดล คัสโตร ผู้นำคิวบายอมอยู่ใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ. 1962 สหภาพโซเวียตติดตั้งขีปนาวุธในคิวบา สหรัฐอเมริกาประท้วงให้รื้นถอน
ในที่สุดสหภาพโซเวียตต้องปฏิบัติตาม
4.4 การผ่อนคลายความตึงเครียด (ค.ศ. 1973-1990) เป็นระยะผ่อนคลายความตึงเครียด ลดการเผชิญหน้าเสริมสร้างบรรยากาศประนีประนอมกันมากขึ้น
มหาอำนาจต่างยินยอมแก้ไขข้อขัดแย้งและข้อพิพาทต่าง ๆ อย่างสันติ มีการพบปะผู้นำทั้งสองฝ่ายหลายครั้ง
เพื่อเจรจาขจัดปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ให้ลดลงหรือหมดไป มีผลทำให้เกิดข้อตกลงต่างๆ
เกิดการเจรจาลดอาวุธ จำกัดขีปนาวุธพิสัยใกล้และไกล ลงนามสนธิสัญญาทำลายอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง
สหรัฐอเมริกาเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ยินยอมให้จีนเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติและเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง
เกิดการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนและยินยอมให้มีการถอนทหารเวียดนามออกจากกัมพูชา
และหาวิธีการเพื่อให้เกิดสันติภาพในกัมพูชา จากลักษณะความร่วมมือของมหาอำนาจเพื่อให้เกิดสันติภาพ
แนวโน้มการยุติสงครามเย็นจึงมีความเป็นไปได้สูง
4.5 ระยะแห่งการสิ้นสุดสงครามเย็น (ช่วงทศวรรษที่ 1990) เมื่อสหภาพโซเวียตปฏิรูป
ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง
นับตั้งแต่นายมิคาอิล กอร์บาชอฟขึ้นมาเป็นผู้นำได้ประกาศแนวนโยบายกลาสนอต
(Glasnost) และเปเรสทรอยก้า(Perestroika) โดยเปิดประเทศเข้าสู่ระบบเสรี
ปรับเศรษฐกิจให้เอกชนเข้าไปประกอบธุรกิจ การผลิตและการขายให้เป็นไปตามหลักการเสนอและสนอง
ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น เปิดโอกาสให้มีเสรีภาพในการรับข่าวสารข้อมูล
ลดกำลังทหารและกองกำลังภายนอกประเทศ ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานและประเทศในยุโรปตะวันออก
การปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มผู้นำคอมมิวนิสต์หัวเก่า
จนเกิดการปฏิวัติขึ้น แต่ล้มเหลวทำให้พรรคคอมมิวนิสต์หมดอำนาจ ส่งผลทำให้แลตเวีย เอสโตเนีย
ลิทัวเนีย ซึ่งเป็นรัฐทางทะเลบอลติกประกาศเอกราช ไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต
ต่อมารัฐต่าง ๆ แยกตัวเป็นอิสระปกครองตนเอง มีผลทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายลง ในเดือนธันวาคม
ค.ศ. 1991 ส่วนสาธารณรัฐรัสเซียภายใต้การนำของ
นายบอริส เยลท์ซิน ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตย ประเทศบริวารของสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันออก
เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างแยกตัวเป็นอิสระ หลายประเทศปรับเปลี่ยนการปกครองมาเป็นแบบประชาธิปไตย
จากการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก
ส่งผลให้มีการสลายตัวขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ องค์การโคมีคอน เมื่อเยอรมนีตะวันออกเปลี่ยนตัวผู้นำ
ได้ทุบทำลายกำแพงเบอร์ลิน นับเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดสงครามเย็น มีผลทำให้ประชาชนของเยอรมนี
ทั้งสองประเทศ เดินทางเข้าออกได้อย่างอิสระ นำไปสู่การรวมประเทศเยอรมนีภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
ใน ค.ศ. 1990
5 สภาวการณ์ของสังคมโลกหลังสงครามเย็น
ความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกเกิดขึ้นเมื่อเกิดการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
สงครามเย็นได้ยุติลงก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อสังคมโลก
ดังนี้
5.1 สหรัฐอเมริกามีบทบาทเด่นชัดเป็นประเทศอภิมหาอำนาจชาติเดียว ศูนย์กลางใหม่ของโลกยุคโลกาภิวัตน์อยู่ที่สหรัฐอเมริกา เห็นได้จากการประกาศใช้ระเบียบโลกใหม่
(New World Order) ซึ่งมี แนวทางสำคัญคือ การปกครองประชาธิปไตย เศรษฐกิจระบบเสรี
การเคารพสิทธิมนุษยชน และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยให้ประเทศในสังคมโลกต้องปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติและกรอบของการเมืองระหว่างประเทศ
ประเทศใดไม่ปฏิบัติตามจะถูกมาตรการบังคับหลายวิธีการ ดังเช่น มาตรการทางการค้า การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
การใช้กำลังทหารบังคับ นโยบายการจัดระเบียบโลกใหม่ถูกนำมาใช้ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก
อย่างเช่น การแก้ไขปัญหาสันติภาพในตะวันออกกลาง แต่การกระทำของสหรัฐอเมริกาสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศต่าง
ๆ เพราะเห็นว่าเป็นเจตนาที่จะเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ มีผลทำให้เกิดการต่อต้านสหรัฐอเมริกาขึ้นในภูมิภาคต่าง
ๆ โดยเฉพาะการทำหน้าที่เสมือนกับเป็นตำรวจโลก ใช้กองกำลังแก้ปัญหาความขัดแย้งดังเช่น
กรณีความขัดแย้งระหว่างอิรักกับคูเวต เนื่องจากการแย่งแหล่งน้ำมัน สหรัฐอเมริกาอาศัยข้อมติของสหประชาชาติทำสงครามชนะอิรัก
ความขัดแย้งการนับถือศาสนาในโคโซโว ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งของยูโกสลาเวีย สหรัฐอเมริกาใช้กำลังทางอากาศถล่มจน
ยูโกสลาเวียต้องถอนทหารจากโคโซโว และเมื่อเกิดเหตุการณ์การก่อวินาศกรรมถล่มตึกเวิร์ลเทรด
ในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ซึ่งสหรัฐอเมริกาเชื่อว่า เป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อการร้าย อัลเคด้า
(al Qaeda) รัฐบาลตาลิบันของอัฟกานิสถานให้การสนับสนุนทั้งเปิดค่ายฝึกและให้ที่พักพิง
สหรัฐอเมริกาจึงอาศัยข้อมติของสหประชาชาติทำสงครามกับอัฟกานิสถานจนมีชัยชนะแต่ก็ยังไม่สามารถจับอุสมาบินลาเด็น
(Osama bin Laden) มาพิจารณาลงโทษได้
5.2 การแข่งขันทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ หลังสงครามเย็น มีการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางการค้า
การแข่งขันด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจทำให้เกิดการแย่งชิงกันครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ
ดังเช่น การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะ สแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเกาะที่มีทรัพยากรน้ำมัน
แย่งชิงกัน ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ความขัดแย้งระหว่างไทยกับพม่า
แย่งชิงการจับปลาในทะเลอันดามัน ส่วนการแข่งขันแย่งตลาดในภูมิภาคก็เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง
เช่นกัน ดังเช่นสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นแย่งตลาดสินค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศมหาอำนาจก็มีมาตรการพิทักษ์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเพิ่มมากขึ้น
มีการปกป้องตลาดภายใน เพื่อป้องกันการไหลเข้าของสินค้าต่างประเทศ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกาประกาศใช้นโยบายสิทธิมนุษยชน
มาตรการคว่ำบาตร มาตรการทางการค้า มาตรฐานสิ่งแวดล้อม เป็นข้ออ้าง
5.3 การเปลี่ยนแปลงอำนาจในโลกและในภูมิภาค ประเทศต่าง
ๆ ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมได้เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น ดังเช่น เมื่อเกิดการตกต่ำทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ญี่ปุ่นมีบทบาทในการช่วยฟื้นฟูหลายรูปแบบที่สำคัญได้แก่ โครงการมิยาซาวา สาธารณรัฐประชาชนจีนก็เช่นเดียวกันได้ปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียยุติความแตกร้าวที่มีมากว่า 30 ปี และยังได้ปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาพยายามลดความขัดแย้งและแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ไปเยือนจีนในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2002 ได้ตกลงร่วมกันปราบปรามผู้ก่อการร้ายระหว่างประเทศ
สาธารณรัฐประชาชนจีนและกลุ่มประเทศอิสลามจึงเป็นกลุ่มการเมืองใหม่ที่คาดว่าจะมีบทบาทสูงขึ้นในเวทีโลก
5.4 กระแสชาตินิยมใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดในประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์
ในดินแดนอดีตสหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวีย สืบเนื่องมาจากความแตกต่างทางพื้นฐานวัฒนธรรมทั้งทางด้านชาติพันธุ์และศาสนา
ทำให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับรัฐบาลกลางทวีความรุนแรงขึ้น และเป็นตัวกระตุ้นปลุกเร้าให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมรุนแรงมากขึ้น
ซึ่งยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน ดังตัวอย่างความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติรัสเซียกับชนกลุ่มน้อยชาวเชสเนียในประเทศรัสเซีย
ความขัดแย้งระหว่างบอสเนียมุสลิม กับบอสเนียเซิร์บคริสเตียน ความขัดแย้งระหว่างโครแอทกับเซิร์บ
ความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจัน ความขัดแย้งระหว่างเผ่าฮูตูกับเผ่าตุดซีในประเทศรวันดา
ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยเผ่าต่าง ๆ ความขัดแย้งของกระแสชาตินิยมใหม่ได้กลายเป็นสงครามในท้องถิ่นในภูมิภาคต่าง
ๆ ของโลก
โลกหลังสงครามเย็นเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง
ระบบทุนนิยมเข้าไปมีอิทธิพลต่อชีวิตแทบทุกส่วนของโลก ประชาคมโลกซึมซับค่านิยมตะวันตก
การตื่นตัวของค่านิยมเสรีภาพและประชาธิปไตยก่อให้เกิดการล้มล้างระบบอำนาจนิยมในดินแดนต่างๆ
ทำให้ผู้นำพลเรือนกลับเข้ามามีอำนาจในหลายประเทศ เกิดปรากฏการณ์ข้ามชาติทั่วทั้งโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
นั่นคือ กระแสโลกาภิวัตน์ ก่อให้เกิดเครือข่ายเชื่อมโยงถึงกันทุกด้าน
สังคมโลกในอนาคตจะพบกับสันติสุขได้
หากทุกประเทศให้ความร่วมมือกันไม่ เอารัดเอาเปรียบ เน้นการพัฒนาอย่างมีทิศทาง สมดุลและยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น